การแบ่งสภาพพื้นที่แม่น้ำโขง

ข้อมูลแม่น้ำโขง >> ลุ่มแม่น้ำโขง >> การแบ่งสภาพพื้นที่แม่น้ำโขง

เนื่องจากสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างประกอบด้วยแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงจำนวนมาก มีพื้นที่ทางน้ำไหลของแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ การจัดการระบบแม่น้ำแบบผสมผสาน (Integrated Basin Flow Management Programme-IBFM) ได้แบ่งแม่น้ำโขงออกเป็น 6 ช่วง (MRC 2009a) โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยลักษณะทางอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ลักษณะการไหลของน้ำ ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังแสดงใน รูปที่ 1

โดยแม่น้ำโขงช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่แม่น้ำแม่น้ำหลานชางเจียง หรือลุ่มน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ซึ่งต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงมาจากการละลายของหิมะบนที่ราบสูงทิเบตเป็นส่วนใหญ่ แล้วไหลผ่านมณฑลยูนนานซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมากและอาจส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำไปยังตอนล่างของแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงช่วงที่ 2 จากเชียงแสนถึงเวียงจันทน์และหนองคาย ลักษณะภูมิประเทศจะเป็นภูเขาและป่าไม้ มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยสำหรับการพัฒนาการเกษตรถาวร และไม่มีแผนด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำ มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กสำหรับความต้องการไฟฟ้าในระดับท้องถิ่น โครงการที่น่าสนใจคือโครงการแม่น้ำอูนตอนบน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาที่ได้รับการพัฒนาเพื่อส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศจีน

แม่น้ำโขงช่วงที่ 3 จากเวียงจันทน์และหนองคายไปยังปากเซ เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาของแม่น้ำโขง กล่าวคือแม่น้ำโขงช่วงที่ 2 ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงช่วงที่ 3 สาเหตุมาจากแม่น้ำสาขาสำคัญๆ 6 สาย ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ได้แก่ แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำหินบูน แม่น้ำเซบั้งไฟ แม่น้ำเซบางเฮียง และแม่น้ำเซโดน ส่วนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณประเทศไทยมี แม่น้ำสาขาสำคัญๆ 2 แม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี

แม่น้ำโขงช่วงที่ 4 จากปากเซไปถึงกระแจะ (Kratie) ประเทศกัมพูชา ลักษณะทางอุทกวิทยาของแม่น้ำโขงในช่วงนี้ได้รับผลมาจากแม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำเซกอง แม่น้ำเซซาน และแม่น้ำเซรย์ปกกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการไหลเฉลี่ยรายปีเมื่อวัดที่กระแจะ

แม่น้ำโขงช่วงที่ 5 จากกระแจะไปยังพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีความซับซ้อนทางด้าน ชลศาสตร์บริเวณทะเลสาบโตนเลสาบและทะเลสาบใหญ่ประเทศกัมพูชา ปริมาณน้ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ไหลมารวมกับแม่น้ำโขงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุทกวิทยาและเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ

แม่น้ำโขงช่วงที่ 6 จากกรุงพนมเปญไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ในช่วงนี้จะมีความซับซ้อนของการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง มีอิทธิพลต่อการรุกล้ำของน้ำเค็มจากทะเลจีนใต้ โดยเฉลี่ย 30-50 เปอร์เซ็นต์ มักเกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้งในช่วงฤดูฝนของทุกปี ส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้าง ถนน และเขื่อนป้องกันตลิ่ง

รูปที่ 1 ทิศทางการไหลของแม่น้ำโขง 6 ช่วง

แม่น้ำโขงช่วงที่ 1

แม่น้ำโขงช่วงที่ 1 เริ่มจากต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงมาจากการละลายของภูเขาหิมะในมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน และบริเวณเทือกเขาทางทิศเหนือของทิเบต ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำอีก 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงไหลลงทางทิศใต้ขนาบด้วยแม่น้ำแยงซีเกียงทางทิศตะวันออก และแม่น้ำสาละวินทางทิศตะวันตก แม่น้ำโขงไหลผ่านแก่งหินและซอกเขาโดยตลอด จนถึงบริเวณเมืองเชียงรุ้งจึงเป็นที่ราบเชิงเขา ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่พรหมแดนที่มีแม่น้ำโขงกั้นระหว่าง สปป.ลาว และเมียนมาร์ จากนั้นก็ไหลลงสู่จุดร่วมระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมาร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

แม่น้ำโขงที่ไหลอยู่ในประเทศจีนมีความยาวประมาณ 2,047 กิโลเมตร ส่วนที่ไหลอยู่ในทิเบตมีความยาวประมาณ 800 กิโลเมตร และส่วนที่เหลือความยาวประมาณ 1,247 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศของมณฑลยูนนานใกล้ชายแดนทิเบต มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงชันหรือลักษณะโตรกผาชันดังแสดงในภาพที่ 2-4 มีระดับความต่างของความสูงลำน้ำกว่า 800 เมตร ในช่วงตอนกลางของแม่น้ำในช่วงที่ไหลผ่านยูนนานเป็นระยะทาง 750 กิโลเมตร เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศในมณฑลยูนนานมีความสูงชัน นำมาสู่แผนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ โดยสร้างเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบขั้นบันได (cascade dams) บนแม่น้ำโขง 8 โครงการ

แม่น้ำโขงช่วงที่ 2

ในขอบเขตของช่วงนี้จัดได้ว่าเป็นลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นส่วนที่ผ่านประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 84 กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่ สปป.ลาว ผ่านเมืองหลวงพระบาง และไหลผ่านเป็นพรมแดนไทย-สปป.ลาว อีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย ผ่านนครเวียงจันทร์และจังหวัดหนองคาย

ลักษณะของทางน้ำในภาคเหนือเป็นแก่งหินและหน้าผา ความกว้างของแม่น้ำไม่กว้างนัก ไหลผ่านภูเขาสองข้างไปจนสุดแดนไทย-สปป.ลาว ที่อำเภอเวียงแก่น และเป็นลักษณะเช่นนี้ไปจนถึง หลวงพระบางใน สปป.ลาว ส่วนสภาพแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แม่น้ำจะแผ่กว้าง ประกอบไปด้วยชายฝั่ง หาดทราย และเกาะแก่งจำนวนมาก

จากแผนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง 11 โครงการ Mekong River Commission Basin Development Plan (2009b) ในแม่น้ำโขงช่วงที่ 2 ครอบคลุม 6 โครงการ ได้แก่ เขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม และเขื่อน ปากชม

รูปที่ 2 ลักษณะแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนาน

แม่น้ำโขงช่วงที่ 3

แม่น้ำโขงช่วงที่ 3 เริ่มตั้งแต่นครเวียงจันทร์ไหลผ่านแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว ที่จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จากนั้นไหลเข้า สปป.ลาว อีกตอนหนึ่งจนถึงเมืองปากเซ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเอียงลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำสาขาสายสำคัญ คือ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณตอนปลายของที่ราบสูงจะเป็นเนินกว้าง ลาดชันแยกจากลุ่มน้ำย่อยของทะเลสาบเขมร ส่วนใน สปป.ลาว มีแม่น้ำสาขาสายสำคัญๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ได้แก่ แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำหินบอน แม่น้ำเซบั้งไฟ แม่น้ำเซบั้งเหียง และแม่น้ำเซกอง

จากแผนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง 11 โครงการ ในแม่น้ำโขงช่วงที่ 3 ครอบคลุมเพียงหนึ่งโครงการ คือ โครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำโขงที่ กม. +919.50 แนวพรมแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว ที่ตั้งเขื่อนอยู่ใกล้บ้านกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ในฝั่งประเทศไทยและบ้าน Sou La แขวงจำปาสัก ในฝั่ง สปป.ลาว

แม่น้ำโขงช่วงที่ 4

แม่น้ำโขงช่วงที่ 4 เริ่มตั้งแต่ปากเซ สปป.ลาว ถึงกระแจะ (Kratie) ประเทศกัมพูชา จากแผนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง 11 โครงการ ในแม่น้ำโขงช่วงที่ 4 ครอบคลุม 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนลาดเสือ เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนสตึงเตร็ง และเขื่อนซำบอ และยังมีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ได้แก่ แม่น้ำเซกองที่ไหลมาจากประเทศเวียดนาม แม่น้ำเซซานที่ไหลมาจาก สปป.ลาว และแม่น้ำเซรย์ปกที่ไหลมาจากประเทศกัมพูชา หรือเรียกรวมกันว่าแม่น้ำ 3S แม่น้ำสาขาทั้งสามไหลมารวมกันลงแม่น้ำโขง ใกล้จังหวัดสตึงแตรง (Stueng Traeng) ประเทศกัมพูชา และมีส่วนสำคัญส่งผลกระทบต่อระบบอุทกวิทยาของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ถัดลงมาจากแม่น้ำโขงช่วงที่ 4

แม่น้ำโขงช่วงที่ 5

แม่น้ำโขงช่วงที่ 5 เริ่มตั้งแต่กระแจะถึงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา หากดูจากแผนที่ประเทศกัมพูชาจะเห็นทะเลสาบเขมรหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าโตนเลสาบอยู่ตรงกลางประเทศ ทางตอนใต้ของทะเลสาบจะมีแม่น้ำที่สำคัญคือ “แม่น้ำทะเลสาบ” หรือ “แม่น้ำโตนเลสาป” (Tonle Sap River) ไหลลงมาเชื่อมกับแม่น้ำโขงที่ไหลลงมาจาก สปป.ลาว เข้ากัมพูชาทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางยาว 500 กิโลเมตร แม่น้ำโตนเลสาปยังมีส่วนที่ไม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงทั้งหมด โดยแยกตัวออกมาเป็นแม่น้ำสายใหม่ไหลขนานกันทางตะวันตกมีชื่อว่า “แม่น้ำบาสัก” แม่น้ำบาสัก แม่น้ำ โตนเลสาป และแม่น้ำโขง จึงมาพบบรรจบกันที่พนมเปญ แสดงดัง รูปที่ 3

ลุ่มน้ำโตนเลสาบเป็นลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ครอบคลุม 5 จังหวัดของประเทศกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดกำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมเรียบ ดังแสดงในภาพ ในฤดูฝน ปริมาณน้ำมหาศาลจะท่วมล้นแม่น้ำโขงจนดันน้ำเข้าสู่แม่น้ำโตนเลสาบ ไหลเข้าสู่ตัวทะเลสาบโตนเลสาป ทำให้น้ำในโตนเลสาปเพิ่มขึ้นจากฤดูแล้งมากกว่า 6 เท่า เดิมผิวน้ำโตนเลสาปกว้าง 2,500 ตารางกิโลเมตร ฤดูฝนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ตารางกิโลเมตร ปริมาตรเพิ่มขึ้นเป็น 60 – 70 ลูกบาศก์กิโลเมตร เป็นผลดีต่อชลประทานในฤดูแล้ง สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโตนเลสาปและเศรษฐกิจของประชากรรอบๆพื้นที่ ปลากว่า 300 ชนิดพันธุ์ในโตนเลสาปเลี้ยงชีวิตชาวกัมพูชาได้กว่าครึ่งประเทศ นกน้ำอีกกว่า 100 ชนิด และสัตว์น้ำอื่นๆ ในโตนเลสาปเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ระดับน้ำไม่สูงเหมือนอดีตที่ผ่านมา เพราะผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นับสิบแห่งทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงทั้งในประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลลงทะเลสาบโตนเลสาบลดน้อยกว่าปกติและไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

แม่น้ำโขงช่วงที่ 6

แม่น้ำโขงช่วงที่ 6 ตั้งแต่พนมเปญไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ผ่านประเทศเวียดนาม ชาวเวียดนามเรียกว่า “แม่น้ำเก้ามังกร” พื้นที่ที่น่าสนใจของแม่น้ำโขงช่วงที่ 6 คือ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) ถือเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ตั้งอยู่ตรงบริเวณทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม เป็นบริเวณที่เกิดการสะสมตัวของตะกอนในลักษณะของดินดอนสามเหลี่ยม แสดงดัง รูปที่ 4

ปัจจุบันพบว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีพื้นที่ 39,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นสัดส่วนโดยมากของพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม พื้นที่ของดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขงส่วนที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำนั้นขึ้นกับแต่ละฤดู เพราะปริมาณน้ำไม่เท่ากัน จากการศึกษาพบว่าบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีการพัดพาของตะกอนมาสะสมประมาณ 790,000 -810,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี <เกิดการพอกของตะกอนในลักษณะพอกคืบเข้าไปในทะเล รอบชายแดนของประเทศกัมพูชาและชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม โดยในปัจจุบันพบว่าลักษณะปรากฏของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมที่ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง มีลำน้ำแตกออกเป็นเก้าสายก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ดังแสดงใน รูปที่ 5

การประกอบอาชีพของประชากรในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำการประมงและการเกษตรเป็นวิถีชีวิตหลัก บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงและบริเวณปากแม่น้ำเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำการประมงน้ำจืดเพื่อเลี้ยงชีพ และปลูกผลไม้ นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพธุรกิจท่องเที่ยวโดยอาศัยแม่น้ำโขงเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ดูการใช้ชีวิตของชาวบ้าน และธุรกิจเรือท่องเที่ยว

รูปที่ 3 ลักษณะภูมิประเทศโตนเลสาบ

รูปที่ 4 ลักษณะโครงข่ายลำน้ำของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้าโขง

รูปที่ 5 ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงลักษณะของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง