ผลการศึกษาการหายไปของพื้นที่ตลิ่ง ปี 2564

ด้านกายภาพ >> การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมตลิ่ง >> ปี 2564 >> ผลการศึกษาการหายไปของพื้นที่ตลิ่ง

1. พื้นที่ศึกษา

พื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงสายประธาน ในเขตพรมแดนประเทศไทย ตลอดความยาว 958 กิโลเมตรอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รายละเอียดแสดงดังรูปที่ 1

กลุ่มที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งริมแม่น้ำโขงสายประธานของประเทศไทย โดยเลือกใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) จากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการศึกษา ร่วมกับการประมวลผลและจัดทำแผนที่ด้วยโปรแกรมประยุกต์ด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสัณฐานของตลิ่งริมน้ำโขงสายประธานในเขตประเทศไทยทั้ง 8 จังหวัดเลือกช่วงเวลาในการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงรายปี ระหว่างช่วงฤดูแล้งในอดีตและในปีปัจจุบันเพื่อประเมินผลกระทบจากการกัดเซาะของกระแสน้ำโขงต่อพื้นที่ริมตลิ่งบริเวณริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS) ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว มีคุณลักษณะของพื้นที่ระวางกว้าง183 กิโลเมตร ยาว 170 กิโลเมตร และมีความละเอียดของจุดภาพที่ 30×30 เมตร มาทำการวิเคราะห์ประเมินตำแหน่ง พิกัดและขนาดของพื้นที่ริมตลิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ใช้ชุดข้อมูลอนุกรมเวลาของภาพถ่ายปีต่าง ๆ เปรียบเทียบกัน (Time Series) รวมทั้งลงสำรวจภาคสนามอีกครั้ง และเก็บข้อมูลภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ (drone) ในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงในจังหวัดต่าง ๆ

สำหรับการศึกษาปี พ.ศ. 2564 ที่ปรึกษาได้นำผลจากการศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564 มาศึกษาการกัดเซาะตลิ่งและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของลำน้ำ ซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบ
ต่อวิถีชีวิตและพื้นที่ชุมชนริมน้ำ โดยการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาและในปีปัจจุบัน ร่วมกับข้อมูลหรือเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลิ่ง เพื่อนำมากำหนดพื้นที่เป้าหมายในการสำรวจหรือตรวจสอบ และนำมากำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการกัดเซาะตลิ่งและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของลำน้ำ สำหรับวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

รูปที่ 1 พื้นที่ 8 จังหวัดที่ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงตลิ่งและการพัดพาตะกอนของแม่น้ำโขงสายประธาน

2. วิธีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งและการพัดพาตะกอน

กลุ่มที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลการพังทลายและการทับถมของตลิ่งในประเทศไทย โดยการนำเอาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) จากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการศึกษาเพียงปัจจัยเดียว ร่วมกับการประมวลผลและจัดทำแผนที่ด้วยโปรแกรมประยุกต์ด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสภาพลำน้ำโขง ของช่วงฤดูแล้งในปีปัจจุบันระหว่างปี พ.ศ. 2563 และปี พ.ศ. 2564 ทำให้ได้ทราบถึงแนวกัดเซาะของตลิ่งของพื้นที่ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงในภาพรวม โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS) โดยมีขนาดพื้นที่ระวางกว้าง 183 กิโลเมตร ยาว 170 กิโลเมตร และมีความละเอียดของจุดภาพที่ 30×30 เมตร มาทำการวิเคราะห์พื้นที่การเปลี่ยนแปลง ด้วยการวิเคราะห์แบบชุดข้อมูลย้อนหลัง (Time Series) มีวิธีการดังนี้

รูปที่ 2 แผนผังการศึกษาการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขงสายประธาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

1) การรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ

  1. ทบทวนรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านสัณฐานตลิ่งริมน้ำโขง ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และเอกสารงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  2. ข้อมูลพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ เช่น ขอบเขตจังหวัด/อำเภอ/ตำบล ในพื้นที่ศึกษา
  3. ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ในพื้นที่ศึกษาและช่วงเวลาเหมาะสม

2) การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม

  1. วิเคราะห์ภาพถ่ายข้อมูลดาวเทียมในแต่ละปี เพิ่มเติมจากการศึกษาก่อนหน้าและปรับปรุงจนถึงภาพถ่ายปี พ.ศ. 2564
  2. ข้อมูลดาวเทียม Landsat Level 1A ที่มีการปรับแก้ความคลาดเคลื่อนเชิงรังสี (Radiometric Correction) และการปรับแก้ความคลาดเคลื่อนเชิงเรขาคณิต (Geometric Correction) ซึ่งจะใช้ข้อมูลดาวเทียมในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานมาเป็นเส้นฐานหลัก (Baseline) ของตลิ่งแม่น้ำโขง เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละปีที่เป็นข้อมูลปีปัจจุบันที่สุด
    ตารางที่ 1 ข้อมูลดาวเทียมต่าง ๆ และช่วงปีและเดือนที่นำภาพมาใช้ในการศึกษานี้

    ดาวเทียม ปี พ.ศ. ที่นำภาพมาใช้ ช่วงเดือน หมายเหตุ
    Landsat 8 พ.ศ. 2564 มกราคม – เมษายน
  3. การจำแนกด้วยดัชนีผลต่างความชื้น (The Normalize Difference Water Index : NDWI) เป็นการนำภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละปีมาแยกระหว่างพื้นดินกับพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการคำนวณค่าการสะท้อนแสงในรูปตัวเลข (Digital Number) มีค่าอยู่ที่ -1 ถึง 1 ในที่นี้ คือ การเข้าสัดส่วนซึ่งกันและกันแล้วให้ผลลัพธ์ในการจำแนกในบริเวณที่เป็นน้ำ และพื้นที่ที่ไม่ใช่น้ำได้อย่างชัดเจน ด้วยสมการ

    เมื่อ
    Green = ช่วงคลื่นสีเขียว
    NIR = ช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้
  4. จำแนกข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยการจำแนกประเภทข้อมูลแบบควบคุมจุดภาพ(Supervised Classification) แบบความน่าจะเป็นสูงสุด (Maximum Likelihood)

2.1) ช่วงเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตลิ่ง

กลุ่มที่ปรึกษาจะดำเนินการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงด้วยเทคนิค Overlays Analysis จากข้อมูลแนวเส้นแม่น้ำโขงที่ได้ จากการใช้สมการ Normalize Difference Water Index : NDWI ภายใต้แนวคิดที่จะอ้างอิงแนวแม่น้ำโขงเส้นหลัก ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นก่อนที่จะมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน โดยดำเนินการรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพิ่มเติมให้เป็นปัจจุบันมากที่สุดที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่เป็นทางการของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS) เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด และปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงรายปีจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม โดยแบ่งช่วงเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลตามช่วงเวลาของการดำเนินการการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้

  1. ช่วงปีก่อนที่จะมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน ช่วงปี พ.ศ. 2528–2534
  2. ช่วงปีหลังมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประมาณตอนบน แต่ก่อนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง เขื่อนแรกของ สปป.ลาว (เขื่อนไซยะบุรี) เปิดดำเนินการ ช่วงปี พ.ศ. 2535-2561
  3. ช่วงปีหลังจากที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง เขื่อนแรกของสปป.ลาว (เขื่อนไซยะบุรี) เปิดดำเนินการ (พ.ศ. 2562-2564)

ภายหลังจากดำเนินการหาการเปลี่ยนแปลงของริมตลิ่งแม่น้ำโขงเรียบร้อยแล้ว กลุ่มที่ปรึกษาได้นำผลการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาวิเคราะห์ปรับปรุงข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของริมตลิ่งแม่น้ำโขงให้เป็นปัจจุบัน และปรับปรุงการกำหนดเกณฑ์ประเมินพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของตลิ่ง ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

2.2) การตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งในภาคสนาม

กลุ่มที่ปรึกษากำหนดแผนงานการลงสำรวจในภาคสนาม (Ground-truth Survey) ณ บางพื้นที่ ซึ่งได้ประเมินด้วยภาพถ่ายดาวเทียมว่ามีความเสี่ยงสูง (ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งสูง) เพื่อยืนยัน
ผลการศึกษาโดยวิธีการประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในด้านความละเอียด โดยลงสำรวจพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตลิ่งริมตลิ่งแม่น้ำโขงสายประธาน โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งละเอียดทวนสอบความถูกต้องกับข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งที่เกิดขึ้นและใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่นั้น ๆ โดยขั้นตอนการวิเคราห์หาพื้นที่ในการลงสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับในการศึกษาของปีนี้ มีดังนี้

  • วิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการซ้อนทับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Overlays Analysis) เพื่อหาพื้นที่การกัดเซาะและทับถมของพื้นที่แม่น้ำโขงฝั่งไทยในปี พ.ศ. 2564 และพิจารณาความสอดคล้องของสภาพพื้นที่กับผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม
  • กำหนดตัวแทนตำแหน่งของพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงสูงด้านการกัดเซาะ/ทับถม เพื่อทำการลงสำรวจพื้นที่จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของปี พ.ศ. 2564
  • จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมข้อมูลปี พ.ศ. 2564 จะใช้ข้อมูลการวิเคราะห์มาช่วยในการกำหนดตำแหน่งการลงพื้นที่สำรวจจุดกัดเซาะเขื่อนกั้นตลิ่งตามแนวแม่น้ำโขงของพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 8 จังหวัด ระยะทาง 330 กิโลเมตรการกำหนดตำแหน่งการลงพื้นที่สำรวจจะมุ่งเน้น
    ในพื้นที่โดยรอบของสถานีตรวจวัดน้ำของประเทศไทยทั้ง 6 สถานี พื้นที่ที่มีกลุ่มของการกัดเซาะและทับถมที่อยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยและชุมชน และพื้นที่ที่มีแนวเขื่อนกั้นตลิ่ง โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาเป็นตัวช่วยเพื่อให้ข้อมูลตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขงมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยการคัดเลือกจุดสำรวจนั้น เพื่อดูว่าพื้นที่บนฝั่ง ณ จุดที่มีการกัดเซาะและทับถมมีกิจกรรมหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทใด
  • การกำหนดเกณฑ์คัดเลือกพื้นที่ในการลงสำรวจ ได้แก่
    ความปลอดภัย การเลือกจุดพื้นที่กัดเซาะและทับถม จะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้าสำรวจในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากผู้เข้าสำรวจต้องเข้าพื้นที่ทำการศึกษาเฉพาะจุด (Hotspot) เพื่อทำการบันทึกภาพจากระบบหุ่นยนต์อากาศยาน ดังนั้น พื้นที่สำรวจจึงต้องเป็นจุดที่ปลอดภัย และได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและชาวบ้านในพื้นที่ จึงเลือกเป็นจุดพื้นที่ศึกษา
    ความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ หลังจากได้พื้นที่การกัดเซาะและทับถม แล้วจึงนำมาพิจารณาสภาพแวดล้อมว่ามีลักษณะของพื้นที่เป็นอย่างไร สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายหรือไม่ เพื่อใช้สำหรับคัดเลือกพื้นที่ในการสำรวจ
  • หลังจากได้พื้นที่ที่ผ่านการคัดกรองเรียบร้อยแล้ว จะนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในการเก็บข้อมูลทำแผนที่เฉพาะจุด (Hotspot Area) ในตำแหน่งที่ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ เพื่อให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงที่จะนำมาเปรียบเทียบหาความสอดคล้องกับข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม และเป็นฐานข้อมูลต่อไปในอนาคต

2.3) การสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

จากการประมวลผลด้วยการซ้อนทับ (Overlays Analysis) ของข้อมูลแนวแม่น้ำโขงปี พ.ศ. 2564ซึ่งเป็นปีล่าสุดในการคำนวณหาพื้นที่การเปลี่ยนแปลงของตลิ่ง มาทำการคำนวณหาพื้นที่ที่มีการกัดเซาะมากที่สุด โดยนำข้อมูลตลิ่งที่ทำการก่อสร้างด้วยมนุษย์มีระยะทางประมาณ 330 กิโลเมตร มาตัดพื้นที่ออกเพื่อให้เหลือแต่พื้นที่ตลิ่งตามธรรมชาติเท่านั้น

ในขั้นต้นนี้เป็นการนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ มาทำการสำรวจ และบันทึกภาพถ่ายทางอากาศที่มีรายละเอียดสูงเข้ามาใช้ในการสำรวจเฉพาะพื้นที่ เพื่อตรวจสอบผลการศึกษาที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมในข้างต้น ว่ามีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงมากน้อยเพียงใด รวมทั้งลดข้อจำกัดและความเสี่ยงที่เกิดจากการสำรวจโดยมนุษย์ ภาพที่ได้นั้นเมื่อนำไประมวลผลแล้วสามารถรังวัดขนาดพื้นที่ และระยะของแนวกัดเซาะตลิ่ง โดยข้อมูลที่ได้จากระบบหุ่นยนต์อากาศยานสามารถนำไปจัดทำฐานข้อมูลทางภูมิสารสนเทศศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบในการบริหารจัดการพื้นที่ได้ละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    • ระบบหุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก ที่ใช้ในการทำแผนที่ นั้นจะใช้ระบบหุ่นยนต์อากาศยานแบบหลายใบพัด (Multirotor) ซึ่งประกอบด้วยลำตัวอากาศยาน (Aircraft) ระบบการบินควบคุมแบบอัตโนมัติ (Autopilot System) ระบบบันทึกภาพ (Camera) ลำตัวอากาศยานแบบใช้พลังงานไฟฟ้า 4 ใบพัด (Quad-rotors) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมชุดควบคุมความเร็ว (Motor and Speed Controller) ใบพัด (Propeller) แผงวงจรส่วนกลาง (Center Board) พร้อมติดตั้งกับตัวอากาศ ชุดควบคุมระบบการสื่อสาร (Communication Unit) ได้แก่ ชุดวิทยุบังคับ (Remote Control : RC) โดยมนุษย์ ทั้งภาคส่งและภาครับ (Transmitter and Receiver) สำหรับควบคุมการบินของเครื่องบิน ตลอดจนโปรแกรมระบบควบคุมภาคพื้นดิน (Ground Control Station) ซึ่งสามารถติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลต ซึ่งมีระบบปฏิบัติการ IOS หรือ Android และมีความสามารถในการกำหนดจุดบินแบบอัตโนมัติ (Way points) รวมทั้งกำหนดความสูงเพดานบิน ความเร็วแนวระนาบและการสั่งบินกลับ เป็นต้น แสดงดังรูปที่ 3

      รูปที่ 3 ระบบหุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็กที่ใช้ในการทำแผนที่ รุ่น Phantom 4

  • ระบบบันทึกภาพถ่ายทางอากาศ ระบบบันทึกภาพทางอากาศที่ใช้เป็นช่วงคลื่นตามองเห็นแบบดิจิตอล (Visible camera: RGB) พร้อมอุปกรณ์ควบคุมเสถียรภาพ (Gimbal) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ตัวเซนเซอร์กล้องต้องสามารถตรวจวัดช่วงคลื่นตามองเห็น (RGB) และมีรายละเอียด 16 ล้านพิกเซล และระบบการปรับแก้ค่าพื้นฐานโดย และกำหนดเวลาการบันทึกภาพ (Interval capture) ได้ มีระบบบันทึกภาพนิ่งในรูปแบบการบีบอัดของไฟล์ JPEG หรือ TIFF และภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบการบีบอัดไฟล์ MPEG4 และมีระบบบันทึกค่าพิกัดภาพ (Geotag) แสดงดังรูปที่ 4

    รูปที่ 4 กล้องดิจิตอล (Visible camera : RGB)

  • การวางแผนการบินแบบกริด (Grid Flight Planning) รูปแบบการวางแผนแนวบินนั้นจะใช้การบินแบบกริด (Grid flight planning) เพื่อทำให้ภาพถ่ายทาอากาศนั้นมีจุดซ้อนทับของภาพ และนำมาสร้างแผนที่รายละเอียดสูงได้อย่างสมบูรณ์ ในการศึกษาครั้งจะใช้แอพพลิเคชั่น Drone Depoly เข้ามาช่วยในการวางแผนการบินแบบกริด โดยการถ่ายภาพสำรวจในแต่ละครั้งจะกำหนดความสูงในการบินที่ 300 เมตร และบินด้วยความเร็ว 15 เมตร/วินาที มีการซ้อนทับด้านหน้าของภาพ (Overlap) และซ้อนทับด้านข้าง (Sidelap) จะกำหนดการซ้อนทับเป็นเปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสมของงาน โดยแบ่ง Flight plan ให้ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา แสดดังรูปที่ 5

    รูปที่ 5 การวางแผนการบินแบบกริด (Gridflight Planing)

  • การประมวลผลภาพถ่ายทางอากาศ นำข้อมูลภาพถ่ายจากหุ่นยนต์อากาศยาน (Still Image) ของพื้นที่มาประมวลผลเพื่อที่จะสร้างแผนที่รายละเอียดสูง จากการทำภาพออโธร์ (Orthophoto) โดยใช้โปรแกรมทาง (Computer Vision) ดิจิทัลโฟโตแกรมเมทรี (Digital Photogrametry) และการประมวลผลภาพดิจิทัล (Digital Image Processing) โดยอาศัยข้อมูลจาก Image Geotaging หรือ Geolocation เพื่อบ่งบอกถึงการมีพิกัดของภาพ โดยบันทึกพิกัดไปที่ EXIF. File ของภาพ ซึ่งทำได้โดยหุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็กถ่ายภาพขณะที่เปิดรับสัญญาณ GPS ไปในเวลาเดียวกัน จะทำให้ได้ภาพแผนที่รายละเอียดสูงของพื้นที่ศึกษา (Orthomosaic Mapping) แสดงดังรูปที่ 6

    รูปที่ 6 ภาพแสดงตัวอย่างข้อมูลการประมวลผลภาพ

ผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่ตลิ่งที่หายไป

จังหวัด อำเภอ ปี พ.ศ 2564 เทียบจากปี พ.ศ. 2563
พื้นที่ตลิ่งหายไป
ตร.กม. ไร่
จ.เชียงราย อ.เชียงของ 0.19 124.96
อ.เชียงแสน 0.32 245.15
อ.เวียงแก่น 0.06 37.10
รวมจังหวัดเชียงราย 0.57 407.21
จ.เลย อ.เชียงคาน 0.30 184.89
อ.ปากชม 1.39 872.24
รวมจังหวัดเลย 1.69 1057.13
จ.หนองคาย อ.ท่าบ่อ 0.17 104.80
อ.โพนพิสัย 0.04 27.21
อ.เมืองหนองคาย 0.21 131.64
อ.รัตนวาปี 0.02 14.57
อ.ศรีเชียงใหม่ 0.15 91.45
อ.สัมคม 0.73 456.51
รวมจังหวัดหนองคาย 1.32 826.54
จ.บึงกาฬ อ.บึงโขงหลง 0.55 344.74
อ.บุ่งคล้า 0.29 181.30
อ.ปากคาด 0.02 10.47
อ.เมืองบึงกาฬ 0.72 448.20
รวมจังหวัดบึงกาฬ 1.58 320.82
จ.นครพนม อ.ท่าอุเทน 0.51 320.82
อ.ธาตุพนม 0.12 76.36
อ.บ้านแพง 0.35 221.80
อ.เมืองนครพนม 0.37 229.75
รวมจังวหวัดนครพนม 1.35 848.73
จ.มุกดาหาร อ.ดอนตาล 0.03 16.74
อ.เมืองมุกดาหาร 0.04 23.89
อ.ว่านใหญ่ 0.12 72.63
รวมจังหวัดมุกดาหาร 0.19 113.26
จ.อำนาจเจริญ อ.ชานุมาน 0.001 1.02
รวมจังหวัดอำนาเจริญ 0.001 1.02
จ.อุบลราชธานี อ.เขมราฐ 0.001 4.31
อ.โขงเจียม 0.03 22.11
อ.นาตาล 0.005 3.37
อ.โพธิ์ไทร 0.005 3.64
อ.ศรีเมืองใหม่ 0.002 0.12
รวมจังหวัดอุบลราชธานี 0.04 33.55
รวมทั้งหมด 6.74 5,256.86