ข้อมูลด้านสัณฐานของตลิ่งริมน้ำ ปี 2565

ด้านกายภาพ >> ข้อมูลด้านสัณฐานของตลิ่งริมน้ำ >> ปี 2565

การเปลี่ยนแปลงสัณฐานของตลิ่ง

1. พื้นที่ศึกษา

          พื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงสายประธาน ในเขตพรมแดนประเทศไทย ตลอดความยาว 958 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รายละเอียดแสดงดังรูปที่ 1

          ที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งริมแม่น้ำโขงสายประธานของประเทศไทย โดยเลือกใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) จากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการศึกษา ร่วมกับการประมวลผลและจัดทำแผนที่ด้วยโปรแกรมประยุกต์ด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสัณฐานของตลิ่งริมน้ำโขงสายประธานในเขตประเทศไทยทั้ง 8 จังหวัด เลือกช่วงเวลาในการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงรายปี ระหว่างช่วงฤดูแล้งในอดีตและในปีปัจจุบัน เพื่อประเมินผลกระทบจากการกัดเซาะของกระแสน้ำโขงต่อพื้นที่ริมตลิ่งบริเวณริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS) ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว มีคุณลักษณะของพื้นที่ระวางกว้าง 183 กิโลเมตร ยาว 170 กิโลเมตร และมีความละเอียดของจุดภาพที่ 30×30 เมตร มาทำการวิเคราะห์ประเมินตำแหน่ง พิกัดและขนาดของพื้นที่ริมตลิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ใช้ชุดข้อมูลอนุกรมเวลาของภาพถ่ายปีต่าง ๆ เปรียบเทียบกัน (Time Series) รวมทั้งลงสำรวจภาคสนามอีกครั้ง และเก็บข้อมูลภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ (drone) ในพื้นที่มีระดับสภาพการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งสูง ซึ่งมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงในจังหวัดต่าง ๆ

          สำหรับการศึกษาปี พ.ศ. 2565 ที่ปรึกษาได้นำผลจากการศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564 มาศึกษาการกัดเซาะตลิ่งและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของลำน้ำ ซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพื้นที่ชุมชนริมน้ำ โดยการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาและในปีปัจจุบัน ร่วมกับข้อมูลหรือเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลิ่ง เพื่อนำมากำหนดพื้นที่เป้าหมายในการสำรวจหรือตรวจสอบ และนำมากำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการกัดเซาะตลิ่งและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของลำน้ำ สำหรับวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

 รูปที่ 1 พื้นที่ 8 จังหวัดที่ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงตลิ่งและการพัดพาตะกอนของแม่น้ำโขงสายประธาน

2. สรุปภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตลิ่งแม่น้ำโขงสายประธานของประเทศไทย

          การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตลิ่ง มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของพื้นที่ในแต่ละจังหวัดริมฝั่ง แม่น้ำโขงสายประธาน แต่โดยสรุปในภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศแล้ว เมื่อรวมขนาดของพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งทั้งหมดของ  8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงสายประธานของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกันระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565 ขนาดของพื้นที่ตลิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมีทั้งลดลงและเพิ่มขึ้นนั้น พบว่า มีการสูญเสียของพื้นที่ตลิ่งมากกว่าได้เพิ่มขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563 โดยสูญเสียพื้นที่ตลิ่งมากที่สุด 36.58 ตารางกิโลเมตรในปี พ.ศ. 2563 ในขณะที่ได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มน้อยที่สุด 1.92 ตารางกิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2563 ในปี พ.ศ. 2564 มีการได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าการสูญเสียพื้นที่ตลิ่ง ซึ่งได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นมา 8.02 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่สูญเสียพื้นที่ตลิ่ง 6.74 ตารางกิโลเมตร และในปี พ.ศ. 2565 มีการได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าการสูญเสียพื้นที่ตลิ่ง ซึ่งได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นมา 18.77 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่สูญเสียพื้นที่ตลิ่ง 6.45 ตารางกิโลเมตร แสดงดังรูปที่ 2 สภาพที่พบนี้ คาดการณ์สาเหตุได้หลายปัจจัย ทั้งสภาพทางธรณีสัณฐานของลำน้ำ ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นท้องและตลิ่งของลำน้ำ ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพการไหลของน้ำและความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน กิจกรรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตลิ่งแม่น้ำโขงสายประธาน

รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตลิ่งแม่น้ำโขงสายประธานของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565