ระดับน้ำและอัตราการไหล ปี 2563

ด้านกายภาพ >> ระดับน้ำและอัตราการไหล >> ปี 2563

วิธีการศึกษา และเกณฑ์การประเมินด้านอัตราการไหลและระดับน้ำ
1.1. ทบทวนรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านอัตราการไหลของน้ำและระดับน้ำ
1.2. รวบรวมข้อมูลอัตราการไหล และระดับน้ำของสถานีวัดระดับน้ำ บนแม่น้ำโขงสายประธานทั้ง 6 สถานี ปีล่าสุดที่มีข้อมูลต่อเนื่องจากโครงการฯ และใกล้ปากแม่น้ำสาขา ที่คัดเลือก จากสำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ
1.3. หาค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยในฤดูแล้ง ค่าเฉลี่ยในฤดูฝน และช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของการไหลของน้ำจากฤดูแล้งไปเป็นฤดูฝน และจากฤดูฝนไปเป็นฤดูแล้ง (Transition season) ตามลักษณะการไหลของแม่น้ำโขง ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ระยะเวลาในแต่ละช่วงตามลักษณะการไหลของแม่น้ำโขง

ฤดูกาล ช่วงเริ่มต้น (ตามธรรมชาติ) ช่วงสิ้นสุด (ตามธรรมชาติ)
ฤดูแล้ง ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เดือนพฤษภาคม สำหรับลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
เปลี่ยนแปลงฤดูกาล 1 ประมาณ 2-3 สัปดาห์ระหว่างเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน
ฤดูน้ำหลาก เดือนมิถุนายน ต้นเดือนพฤศจิกายนในพื้นที่ที่อยู่ตอนบน
ช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล 2 ประมาณ 1-2 สัปดาห์ระหว่างกลางเดือนพฤศจิกายน

ที่มา : ตารางระยะเวลาอ้างอิงจากตารางที่ 5 Characteristics of bio-hydrological seasons ในรายงาน The Flow of Mekong, 2009
1.4. เปรียบเทียบและอัพเดทข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหล และระดับน้ำเฉลี่ย โดยแบ่งช่วงเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็น 3 ช่วงเวลาดังกล่าว ณ ตำแหน่งพื้นที่ต่างๆ จากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของแม่น้ำโขงสายประธานในอาณาเขตประเทศไทย เพื่อใช้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของเขื่อนไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายประธาน ได้แก่

  • ช่วงปีก่อนที่จะมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน ช่วงปี พ.ศ. 2528–2534
  • ช่วงปีก่อนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน เขื่อนแรกของ สปป.ลาว (เขื่อนไซยะบุรี) เปิดดำเนินการ ช่วงปี พ.ศ. 2535–2561
  • ช่วงปีหลังจากที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน เขื่อนแรกของ สปป.ลาว (เขื่อนไซยะบุรี) เปิดดำเนินการ พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน หรือข้อมูลปีปัจจุบันล่าสุดที่มี

1.5. ประเมินและติดตามพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านอัตราการไหลและระดับน้ำ ว่ามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงที่กำหนดไว้ในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 เกณฑ์การประเมินพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านระดับน้ำและอัตราการไหล

ระดับแนวโน้ม ระดับการเปลี่ยนแปลงเดิม
ระดับแนวโน้มเสี่ยงน้อยมาก 0-20%
ระดับแนวโน้มเสี่ยงน้อย 21-40%
ระดับแนวโน้มเสี่ยงปานกลาง 41-60%
ระดับแนวโน้มเสี่ยงสูง 61-80%
ระดับแนวโน้มเสี่ยงสูงมาก มากกว่า 80%

2. การทบทวนข้อมูลการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.1 ผลการศึกษาด้านระดับน้ำและอัตราการไหล

ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจะพิจารณาตามช่วงของแม่น้ำโขงสายประธานที่ไหลผ่านประเทศไทย โดยแบ่งตามลักษณะการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง อัตราการไหลเฉลี่ย 7 วัน (7-days moving-averaged data series) ตามรูปที่ 1 ซึ่งเป็นการปรับปรุงการประเมินข้อมูลอนุกรมเวลาให้สามารถประเมินและติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลรายวัน ของสถานีเชียงแสน เชียงคาน หนองคาย นครพนม มุกดาหารและโขงเจียม ซึ่งพบว่าช่วงระยะบนแม่น้ำโขงที่มีลักษณะอัตราการไหลแตกต่างกันสามารถแบ่งได้ 4 ช่วงตามระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ

ตารางอัตราการไหล 6 สถานี พ.ศ. 2563

ปี 2563 เชียงแสน(ลบ.ม./วินาที) เชียงคาน(ลบ.ม./วินาที) หนองคาย(ลบ.ม./วินาที) นครพนม(ลบ.ม.วินาที) มุกดาหาร(ลบ.ม./วินาที) โขงเจียม(ลบ.ม./วินาที)
ฤดูแล้ง เฉลี่ย 1,219±258 1,506±289 1,364±344 2,186±490 2,790±487 2,853±742
min 844 1,092 992 1,570 2,132 2,137
max 1,853 2,457 2,330 3,397 3,967 5,699
ช่วง T1 เฉลี่ย 1,401±306 1,767±294 1,745±432 3,229±1,073 3,821±1,031 3,574±879
min 940 1,184 1,329 2,094 2,644 2,544
max 1,986 2,461 2,932 6,055 6,544 5,898
ฤดูน้ำหลาก เฉลี่ย 2,246±573 2,246±573 4,417±1,894 9,434±4,369 10,078±4,220 11,630±4,863
min 1,347 1,347 2,167 4,296 4,978 4,626
max 4,015 4,015 10,460 20,552 20,938 20,252
ช่วง T2 เฉลี่ย 1,579±167 1,579±167 2,307±218 3,884±431  4,847±671 8,150±2,148
min 1,335 1,335 1,983 3,239 4,097 5,917
max 1,886 1,886 2,740 4,508 6,023 12,880

ที่มา คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย, 2564 (http://www.tnmc-is.org/)

1) ช่วงสถานีเชียงแสนถึงเขตพื้นที่ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่สปป.ลาว

สถานีเชียงแสน เป็นสถานีแรกบนแม่น้ำโขงสายประธานของประเทศไทย เป็นสถานีที่ใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำจากการดำเนินงานของเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานก่อนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในปีพ.ศ. 2563 มีอัตราการไหลเฉลี่ยในฤดูแล้งลดลงเล็กน้อย และอัตราการไหลเฉลี่ยในฤดูน้ำหลากมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นตามที่มีรายงานสถานการณ์การระบายน้ำของเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในฤดูฝนของปี 2563 พบว่ามีการระบายน้ำโขงออกมาน้อยมาก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยการระบายน้ำประมาณ 967 ลบ.ม.ต่อวินาที (ระหว่าง 1 มิถุนายน ถึง 9 ธันวาคม 2563) เป็นผลปริมาณการไหลของน้ำที่สถานีเชียงแสน มีระดับต่ำต่อเนื่องต่อจากปีพ.ศ. 2562 และเนื่องจากเป็นปีแล้ง ดังนั้นจะเห็นว่าอัตราการไหลที่เพิ่มจากค่าเฉลี่ยในฤดูแล้ง และลักษณะช่วงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลที่หายไป รวมถึงสภาพการไหลที่ไม่เป็นไปตามลักษณะการไหลโดยธรรมชาติ (เปรียบเทียบกับช่วงปีก่อนที่จะมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน) ของแม่น้ำโขงในบริเวณนี้จึงมีสาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและสภาพการไหลตั้งแต่ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศไทย ขณะที่อัตราการไหลที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยในฤดูฝนเกิดจากทั้งการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนตั้งแต่ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศไทย และปริมาณฝนที่ตกน้อยลงในภูมิภาค เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

2) ช่วงที่แม่น้ำโขงจะไหลออกจาก สปป.ลาว ถึงสถานีหนองคาย

ในบริเวณพื้นที่ช่วงที่แม่น้ำโขงจะไหลออกจาก สปป.ลาว ถึงสถานีหนองคาย อยู่ในเขตของจังหวัดเลย และจังหวัดหนองคาย โดยมีสถานีวัดระดับน้ำที่ใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ 2 สถานี คือ สถานีเชียงคาน และสถานีหนองคาย จะเห็นว่าอัตราการไหลไม่เป็นไปตามลักษณะการไหลโดยธรรมชาติ (เปรียบเทียบกับช่วงปีก่อนที่จะมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน) ของแม่น้ำโขงในบริเวณนี้มีสาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและสภาพการไหลตั้งแต่ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศไทย ขณะที่อัตราการไหลที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยในฤดูฝนเกิดจากทั้งการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนตั้งแต่ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศไทย และปริมาณฝนที่ตกน้อยลงในภูมิภาค เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

3) ช่วงหลังสถานีหนองคายถึงสถานีมุกดาหาร

ในบริเวณพื้นที่ช่วงที่แม่น้ำโขงจะไหลออกจากสถานีหนองคาย อยู่ในเขตของจังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร โดยมีสถานีวัดระดับน้ำที่ใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ 2 สถานี คือ สถานีนครพนม และสถานีมุกดาหาร เมื่อพิจารณาในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลในแม่น้ำโขงสายประธานในช่วงหลังสถานีหนองคายจนถึงสถานีมุกดาหาร คาดว่ามีสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานใน สปป.ลาว และการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำจากแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเป็นหลัก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรายงานการดำเนินการของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ

4) ช่วงหลังสถานีมุกดาหารถึงสถานีโขงเจียม

ในบริเวณพื้นที่ช่วงที่แม่น้ำโขงจะไหลออกจากสถานีมุกดาหาร อยู่ในเขตของจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีสถานีวัดระดับน้ำที่ใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ 1 สถานี คือ สถานีโขงเจียม มีสภาพการไหลของน้ำมีลักษณะใกล้เคียงกับสถานีวัดระดับน้ำนครพนมและมุกดาหารเป็นอย่างมากทั้งในฤดูน้ำแล้งและช่วงต้นถึงกลางของฤดูน้ำหลาก กล่าวคือ ในช่วงฤดูแล้งโดยเฉพาะเดือนมกราคมถึงมีนาคมนั้นมีอัตราการไหลต่ำกว่าในปี พ.ศ. 2562 มาก ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการปริมาณฝนทีน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับจากปี พ.ศ. 2562 ตามรายงาน CURRENT LOW-FLOW CONDITIONS OF THE LOWER MEKONG BASIN (LMB) และการที่เขื่อนแรกใน สปป.ลาว มีการกักเก็บน้ำตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และเริ่มมีอัตราการไหลเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกันกับช่วงหลังสถานีหนองคายถึงสถานีมุกดาหาร เนื่องมาจากฝนที่เริ่มตกลงมาในช่วงเวลาดังกล่าว หากแต่ในช่วงปลายของฤดูน้ำหลากพบว่ามีอัตราการไหลที่สูงกลับขึ้นมากอีกครั้ง ซึ่งมาจากในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2563 มีพายุดีเปรสชันพัดผ่านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างของ สปป.ลาว (โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเซบังเฮียง) และภาคอีสานตอนล่างของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลากอย่างรุนแรงในลุ่มน้ำเซบังเฮียงใน สปป.ลาว และไหลลงแม่น้ำโขงด้านตรงข้ามอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเซบังเฮียงทางฝั่ง สปป. ลาว และแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานีของประเทศไทย ต่างก็เป็นแม่น้ำสาขาที่ส่งผลต่อสภาพการไหลของสถานีโขงเจียม เมื่อพิจารณาในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลในแม่น้ำโขงสายประธานในช่วงหลังมุกดาหารจนถึงสถานีโขงเจียม คาดว่ามีสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานใน สปป.ลาว และการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำจากแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเป็นหลัก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรายงานการดำเนินการของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ

2.2 การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลและสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงจากสถานีวัดระดับน้ำเชียงแสนถึงสถานีวัดระดับน้ำโขงเจียม

ข้อมูลทางกายภาพของหน้าตัดการไหล และความลาดชันของแม่น้ำในบริเวณแต่ละสถานีได้มีการรายงานไว้ในเว็บไซต์ของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์ของแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2562 และปีพ.ศ. 2563 หลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีเปิดดำเนินการ

สถานีเชียงแสน (Zero Gauge 357.11 ม.รทก.) สถานีเชียงคาน (Zero Gauge 194.12 ม.รทก.)
   
สถานีหนองคาย (Zero Gauge 153.65 ม.รทก.) สถานีนครพนม (Zero Gauge 130.96 ม.รทก.)
สถานีมุกดาหาร (Zero Gauge 124.22 ม.รทก.) สถานีโขงเจียม (Zero Gauge 89.03 ม.รทก.)

รูปที่….ภาพแสดงหน้าตัดการไหลของแต่ละสถานี

2.3 สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงปีพ.ศ. 2563

ในปีพ.ศ. 2563 สามารถทำการเปรียบเทียบสถานการณ์ได้เฉพาะฤดูแล้ง เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลช่วงฤดูน้ำหลากของสถานีเชียงแสน ถึงสถานีมุกดาหาร ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2563 และสถานีโขงเจียม ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 เมื่อพิจารณาอัตราการไหลในฤดูแล้งในปีพ.ศ. 2563 (มกราคม – เมษายน 2562) โดยเลือกใช้ข้อมูลอัตราการไหลระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563 เป็นตัวแทนของข้อมูล ซึ่งในระหว่างนั้นเขื่อนไซยะบุรีได้เปิดดำเนินการครบทุกหน่วยผลิตแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 พบว่าระยะเวลาการเดินทางของน้ำจากสถานีเชียงแสนไปยังสถานีมุกดาหาร ใช้เวลาสะสมรวม 8-9 วัน และปริมาณน้ำจะเดินทางถึงสถานีโขงเจียมซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายใช้เวลาสะสมรวม ≥8 วัน (หากประเมินจากอัตราการไหลเฉลี่ยคาดว่าใช้เวลาสะสมรวมประมาณ 10 วัน)



รูปที่ …. สถานการณ์ของแม่น้ำโขงระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม พ.ศ. 2563