การบริการของระบบนิเวศ ปี 2564

ด้านเศรษฐกิจ สังคม >> ด้านการบริการระบบนิเวศ >> ปี 2564

ด้านการให้บริการระบบนิเวศ

          การศึกษาด้านการให้บริการระบบนิเวศของแม่น้ำโขงในพื้นที่มีแนวโน้มความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนโดยทบทวนผลการศึกษาจากแบบสอบถาม (Social Impact Monitoring and Vulnerability Assessment (SIMVA) 2561) ที่เก็บข้อมูลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรณีศึกษาของพื้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยการสำรวจข้อมูลการให้บริการระบบนิเวศทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านแหล่งอาหาร (Provisioning) ด้านคุณค่าทางวัฒนธรรม (Cultural) ด้านการควบคุมสภาพแวดล้อม (Regulating) และด้านการสนับสนุน (Supporting)  แล้วนำมาพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างผลการศึกษาในด้านต่าง ๆ ของโครงการฯ กับการให้บริการระบบนิเวศ โดยสรุปได้ดังนี้

1. ด้านการผลิตอาหารหรือเป็นแหล่งอาหาร (Provisioning services) 

          จากการศึกษาพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาสำหรับการอุปโภค และนิยมซื้อน้ำบรรจุขวด เพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือน ส่วนแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรริมฝั่งและบนฝั่งโขง รวมถึงการทำปศุสัตว์ ใช้น้ำจากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเป็นหลัก ลักษณะการทำเกษตรริมฝั่งโขงเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน การทำประมงส่วนใหญ่ของประชากรในพื้นที่นิยมทำประมงพื้นบ้าน โดยในภาพรวมชุมชนประกอบอาชีพ จับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ มากกว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเปลี่ยนแปลงด้านการให้บริการระบบนิเวศด้านแหล่งอาหารในภาพรวมก่อนและหลังการเปิดใช้เขื่อนไซยะบุรีอย่างเป็นทางการ พบว่า ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรริมฝั่งโขง คือ ภาวะภัยแล้ง การควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อน และภาวะภัยแล้งยังส่งผลกระทบมากต่อการทำเกษตรบนฝั่งโขงเช่นกัน พื้นที่ตลอดริมฝั่งโขงที่ได้รับผลกระทบ คือ ชุมชนที่ตั้งอยู่พื้นที่ท้ายน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของการไหลของน้ำ และการขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลให้พื้นที่ในการทำการเกษตรริมฝั่งโขงรวมทั้งพืชที่เคยขึ้นริมโขงบริเวณท้ายน้ำหายไป สอดคล้องกับข้อมูลระดับน้ำและปริมาณการไหลของน้ำจากสถานีเชียงคาน พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงตลอดระยะช่วงฤดูแล้งและฤดูน้ำหลากที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำรายเดือนก่อนและหลังปีมีการพัฒนาเขื่อนไชยะบุรี มีความผันผวนของระดับน้ำในปีหลังเขื่อนแรกของ สปป.ลาว ดำเนินงานแล้ว (พ.ศ. 2562-2564) สูงกว่าก่อนปีมีเขื่อนดังกล่าว ส่วนการทำประมงในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2558-2561 และระหว่างปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2563) ระดับน้ำโขงที่ลดลงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการทำประมงเช่นเดียวกันกับแหล่งน้ำสำหรับการทำการเกษตร โดยภัยคุกคามต่อการทำประมงที่ส่งผลกระทบ ทั้งการจับสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ  การเปลี่ยนแปลงความเร็วของกระแสน้ำ รวมทั้งการจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ และใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ  ที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อการจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติด้วย การเกิดภัยคุกคามหรือผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้จำนวนปลาในแม่น้ำโขงลดลง ทำให้ชาวประมงจับปลาตามแม่น้ำโขงได้น้อยลง สอดคล้องกับการศึกษาด้านประมง พบว่า จากการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านประมงและนิเวศวิทยาทางน้ำ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นพื้นที่ที่มีระดับความสำคัญสูง เพราะมีการประกอบอาชีพประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นปริมาณมาก และมีจำนวนชนิดของปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากดัชนีความหลากชนิดของปลาที่จับได้ในช่วงปี พ.ศ.2563 มากกว่า ปี พ.ศ.2561 อาจจะเป็นเพราะว่าระดับน้ำน้อยลง ทำให้ชาวประมงสามารถจับปลาได้หลายชนิดและอาจมีการประมงเกินขนาด ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการจำนวนปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งสอดคล้องกับปี พ.ศ. 2563 หลังจากมีการสร้างเขื่อน พบว่า การจับปลาโดยใช้  อวนทับตลิ่ง มีค่าความชุกชุมของปลาน้อยกว่าก่อนสร้างเขื่อน และน้อยลงอีกในปี 2564 อย่างไรก็ตามต้องทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นความชัดเจนของผลกระทบด้านประมง

 

รูปที่ 1  กราฟแสดงภาพรวมร้อยละด้านการผลิตอาหารหรือเป็นแหล่งอาหาร (Provisioning services)

 

2. การบริการระบบนิเวศทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต (Cultural services)

          พื้นที่แม่น้ำโขง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีแหล่งให้บริการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ได้แก่ ภูพระบาท ควายเงิน สวนลุงเผือก (เกษตรผสมผสาน) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หาดนางคอย หาดแห่ แม่น้ำสองสี แก่งคุดคู้ วัดภูช้างน้อย และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน ได้แก่ สกายวอล์ค  แหล่งปฏิบัติธรรมของวัดภูช้างน้อย และแหล่งท่องเที่ยวตามประเพณี วัฒนธรรม และเทศกาล ได้แก่ แข่งเรือ หาดนางคอย แก่งคุดคู้ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2558-2561 พบว่า ในพื้นที่มีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จำนวนรีสอร์ท โฮมสเตย์ โรงแรม เรือนำเที่ยวเพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2563 พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2558-2561 ส่วนใหญ่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558-2561 ยกเว้นที่พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือ รายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากในพื้นที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ภัยคุกคามที่มีผลกระทบมากต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ คือ การไม่รักษากฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงอาจมีผลกระทบด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยส่งผลกระทบกับประเพณีประจำปีที่ต้องใช้แม่น้ำโขงเป็นหลัก เช่น การแข่งเรือ ลอยกระทง การไหลเรือไฟ ซึ่งทำให้ประเพณีที่สำคัญบางอย่างสูญหายไป

รูปที่ 2 ลักษณะการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงต่อผลกระทบด้านธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ระหว่างปี 2562-2563 ของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย

3. ผลกระทบด้านการควบคุมสภาพแวดล้อม (Regulating services)

          ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2558-2561 และระหว่างปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2563) ในพื้นที่ พบว่ามีปัญหาการกัดเซาะการพังทลายของตลิ่งโดยส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุ 4 อันดับแรก คือ การไหลของกระแสน้ำ การเพิ่ม-ลดของระดับน้ำในแม่น้ำอย่างกะทันหัน การไหลของน้ำผิวดิน และคลื่นในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งการกัดเซาะและการพังทลายของตลิ่ง ทำให้เกิดผลกระทบและเกิดความเสียหายมากที่สุด         3 อันดับแรก คือ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดความเครียด มีพื้นที่ทำกินลดลง และปริมาณสัตว์น้ำลดลง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบการกัดเซาะ การพังทลายของตลิ่งและการสะสมตะกอน ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตลอดแนวริมโขง ปัญหาภัยแล้งหรือการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากที่สุด 3 อันดับ คือ ทำให้ระดับและปริมาณน้ำลดลง กระทบต่อการทำการเกษตร และเกิดการกัดเซาะของดิน รวมทั้งพื้นที่เคยมีปัญหาน้ำท่วม โดยปัญหาน้ำท่วมทำให้เกิดความเสียหายหรือกระทบในพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ปากน้ำเหือง ริมโขง บริเวณหาดนางคอย และบ้านท่าดีหมี โดยปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากที่สุด 3 อันดับ คือ ครัวเรือนมีรายได้ลดลง พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และโรคภัยไข้เจ็บ ภัยคุกคามต่อการให้บริการระบบนิเวศด้านการควบคุมสภาพแวดล้อม (Regulating service) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก 3 อันดับ คือ กิจกรรมการดูดทราย การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การเปลี่ยนแปลงของอัตราการไหลของน้ำ สอดล้องกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมตลิ่งของแม่น้ำโขงโดยใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมและในภาคสนาม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2561 มีพื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้น ส่วนในปี พ.ศ. 2562 ที่เขื่อนแรกของ สปป.ลาว (เขื่อนไซยบุรี) เปิดดำเนินการ พื้นที่ตลิ่งหายไปปี พ.ศ. 2563 ซึ่งถือเป็นตัวแทนของช่วงปีหลังจากที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน เขื่อนแรกของ สปป.ลาว (เขื่อนไซยะบุรี) เปิดดำเนินการ พื้นที่ตลิ่งหายไปมากขึ้น และมีการทับถมเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ. 2564

รูปที่ 3 ลักษณะของน้ำโขงช่วยลดภัยแล้งและขาดแคลนน้ำของกลุ่มตัวอย่างระดับครัวเรือนในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย

4.การให้บริการด้านการสนับสนุน (Supporting services)

          ประชากรในพื้นที่คิดว่าแม่น้ำโขงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาระบบนิเวศ เช่น พืช สัตว์ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์รวมกันของคนในท้องถิ่น โดยแม่น้ำโขง ช่วยสนับสนุนด้านสารอาหารในดินบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำโขงช่วยให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี ช่วยในการหมุนเวียนของแร่ธาตุในแม่น้ำโขง ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของพืชและต้นไม้ สัตว์น้ำ ในพื้นที่มีแหล่งระบบนิเวศที่สำคัญ ได้แก่ หาดทราย ร่องน้ำปลาผ่าน เกาะแก่ง ป่าบุ่ง ป่าทาม ปากน้ำเหือง ปากน้ำเลย ร่องปลาผ่านใกล้ดอนไซ เกาะแก่งใกล้วัดเชียงคาน วัดท่าแขก เป็นต้น และพื้นที่ที่มีแหล่งวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ที่สำคัญได้แก่ ปากน้ำเหือง ปากน้ำเลย หาดใกล้บ้านบุโฮม ปากทาง น้ำฮวย ปากน้ำสาขา ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นต้น ในช่วงระยะ ปี พ.ศ. 2558-2561 และระหว่างปี พ.ศ 2562 จนถึงปัจจุบัน ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีการเปลี่ยนแปลงน้อย การทำเกษตรริมฝั่งโขงส่วนใหญ่ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยหรือสารเคมี เนื่องจากดินริมฝั่งน้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีตะกอนเป็นธาตุอาหารในดิน มีความชุ่มชื้นและมีความสมบูรณ์ของน้ำในพื้นดิน แต่พบการใช้  ยาฆ่าแมลงในพืชบางชนิด หรือใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเพื่อเร่งการเจริญเติบโตให้ทันช่วงฤดูกาลสินค้าส่งตลาด และภัยคุกคามที่รุนแรงส่วนใหญ่มาจากปัญหาภัยแล้ง

          โดยสรุป เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างผลการศึกษาในด้านต่าง ๆ ของโครงการฯ กับการให้บริการระบบนิเวศ มีความสอดคล้องกันระหว่างการศึกษาลักษณะทางกายภาพ โดยใช้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาจากแบบสอบถามจากทัศนคติของชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พบว่า มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเกิดขึ้นทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพภายหลังการดำเนินการของเขื่อนไซยบุรี

รูปที่ 4 ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศในการสนับสนุนของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย