โครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง

ข้อมูลแม่น้ำโขง >> ลุ่มแม่น้ำโขง >> โครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง

Zuo Xue et al. (2010) จากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกว่า 297 เขื่อน ประกอบด้วยเขื่อนที่อยู่ในเมียนมาร์ 6 เขื่อน กัมพูชา 34 เขื่อน จีน 29 เขื่อน สปป.ลาว 71 เขื่อน ไทย 16 เขื่อน และเวียดนาม 141 เขื่อน สถานะของเขื่อนทั้ง 297 เขื่อน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้การ อยู่ระหว่างก่อสร้าง และอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้และขั้นตอนการวางแผนดังแสดงในภาพที่ 2-8ข ซึ่งกว่า 200 เขื่อน ในจำนวนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้และวางแผนหากสร้างเสร็จจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 25,719 เมกะวัตต์


A) การกระจายตัวของเขื่อนในลุ่มน้ำ B ) แผนภูมิแท่งแสดงสถานะโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ C ) เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดบนแม่น้ำหลานชางเจียง โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง

ที่มา: Zuo Xue et al. (2010)

A) การกระจายตัวของเขื่อนในลุ่มน้ำ 3S D) แม่น้ำเซกอง เซซาน และเซรย์ปก ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง

ที่มา: Zuo Xue et al. (2010)

โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน
–   โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง

การพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง จำนวน 11 โครงการ ซึ่งจะก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในตำแหน่งที่ต่างกัน โดยบริเวณช่วงตอนเหนือของ สปป.ลาว ประกอบด้วย เขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนสานะคาม บริเวณช่วงพรมแดนไทย-สปป.ลาว ประกอบด้วย เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม บริเวณตอนใต้ของ สปป.ลาว ประกอบด้วย เขื่อนดอนสะโฮง และช่วงที่อยู่ในประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย เขื่อนสตุงเทรงและเขื่อนซำบอ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2564)

ปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2564) ได้มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการไซยะบุรี และโครงการดอนสะโฮง และมีโครงการที่ดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for Notification, Prior Consultation and Agreement : PNPCA) แล้วเสร็จ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปากแบง โครงการปากลาย โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการ 1 โครงการ คือ โครงการสานะคาม และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการหลวงพระบาง

  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำและมีกำลังการผลิตประมาณ 1,285 เมกะวัตต์ โดยได้มีการยื่นขอมติเห็นชอบการเริ่มต้นกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ประเทศสมาชิกพิจารณาให้ความเห็นเสนอให้คณะทำงานคณะกรรมการร่วม (The Joint Committee Working Group; JCWG) ของ MRC ลงความเห็น กระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ได้สิ้นสุดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว โดยเริ่มเปิดดำเนินการ 1 หน่วย (175 เมกะวัตต์) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 และเริ่มดำเนินการหน่วยผลิตที่เหลือเมื่อเดือนตุลาคม 2562
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง (Don Sahong) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำและมีกำลังการผลิตประมาณ 260 เมกะวัตต์ ปิดกั้นลำน้ำฮูสะโฮง บริเวณประเทศลาวตอนใต้ และได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ประเทศสมาชิกพิจารณาให้ความเห็นเสนอให้คณะทำงานคณะกรรมการร่วมของ MRC ลงความเห็น กระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงสิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2558 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการแล้ว โดยเริ่มทดสอบระบบครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2562
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Beng) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำและมีกำลังการผลิตประมาณ 912 เมกะวัตต์ ได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และได้ดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือ แจ้งล่วงหน้า เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ประเทศสมาชิกพิจารณา ให้ความเห็นเสนอให้คณะทำงานคณะกรรมการร่วมของ MRC ลงความเห็น กระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA)
    ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง สิ้นสุดอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 และได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง (International river, 2017) ซึ่งคณะกรรมการร่วมฯ ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 เพื่อจัดหากลไกการดำเนินงานที่จะรองรับผลสะท้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการแบ่งปันความรู้ในด้านการออกแบบการก่อสร้าง และการดำเนินการของโครงการแล้วนั้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย (Pak Lay) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำและมีกำลังการผลิตประมาณ 770 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการยื่นขอมติเห็นชอบการเริ่มต้นกระบวนการ และได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 เป็นระยะเวลา 6 เดือน และสิ้นสุดกระบวนการเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง (Luang Prabang) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำและมีกำลังการผลิตประมาณ 1,460 เมกะวัตต์ (รวม Auxiliary unit) โดยมีหน่วยการผลิต Turbine 7 หน่วย หน่วยละ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน โครงการล่าสุดที่ได้มีการยื่นขอมติเห็นชอบการเริ่มต้นกระบวนการ และได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยร่างรายงาน Technical review report (TRR) ฉบับแรกได้มีการหารือและทบทวนโดยคณะกรรมการร่วมและได้มีการแก้ไขและตอบข้อคิดเห็นในร่างรายงาน TRR ฉบับที่ 2 โดยมีการประชุมหารือและเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างรายงาน TRR ฉบับที่ 3 อีกครั้งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 และมีการประชุมหารือรายงาน TRR ฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม (Sanakham) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน มีอ่างเก็บน้ำและมีกำลังการผลิตประมาณ 684 เมกะวัตต์ (รวม Auxiliary unit) โดยมีหน่วยการผลิต Turbine 12 หน่วย หน่วยละ 57 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน และได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 โดยการประชุม TNMC เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563มีมติว่าข้อมูลโครงการเขื่อนสานะคามไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และจากการประชุมคณะทำงานคณะกรรมการร่วม (The Joint Committee Working Group; JCWG) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 มีมติให้ MRCS ทบทวนร่างรายงาน TRR ฉบับที่ 2 ตามข้อเสนอแนะ และสรุปผลการวิเคราะห์เป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ไม่ยอมรับ (2) ยอมรับแบบมีเงื่อนไข (3) ยอมรับ และส่งร่างปรับปรุงให้ประเทศสมาชิกพิจารณาอีกครั้งก่อนการพิจารณากำหนดวันเพื่อดำเนินกิจกรรมตาม Roadmap แห่งกระบวนการ PNPCA

ขณะที่โครงการอื่น ๆ ที่อยู่ในแผนพัฒนายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม