ประมง ปี 2564

ด้านชีวภาพ >> ด้านประมง >> ปี 2564

1. วิธีการศึกษา

          การศึกษาข้อมูลด้านประมง ภายใต้โครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  ได้มีการทบทวนข้อมูลการศึกษาในปีที่ผ่านมาและได้ออกแบบ รวมทั้งกำหนดแนวทางการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลตามเกณฑ์การประเมินพื้นที่ที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านการประมง และระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ   ในแต่ละประเด็น โดยวางแผนการวิจัยแบบ Special and temporal random design แบ่งจุดพื้นที่สำรวจออกเป็น 8 จังหวัด ตามลักษณะพื้นที่และนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ โดยกำหนดพื้นที่เก็บตัวอย่าง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ทำการสำรวจและรวบรวมตัวอย่างได้แก่

          1) การสำรวจและรวบรวมตัวอย่างแพลงก์ตอน โดยศึกษาทั้งชนิดและปริมาณของทั้งแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) และแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) รวมถึงค่าดัชนีชี้วัดในแหล่งน้ำ

          2) การสำรวจและรวบรวมตัวอย่างปลา โดยใช้

                  2.1) อวนทับตลิ่งที่มีขนาดตาอวน 2×2 เซนติเมตร ขนาดความยาว 40 เมตร ความกว้าง 8 เมตร และอวนตาถี่ขนาด 16 ตา กว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร จุดสำรวจละ 3 ซ้ำ และ

                  2.2) การสำรวจตลาด จำนวน 45 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยทำการศึกษา 2 ฤดูกาล คือ ฤดูน้ำกำลังขึ้น (T1: มิถุนายน-กรกฎาคม 2564) และฤดูน้ำขึ้นสูงสุด (T2: กันยายน-ตุลาคม 2564) ฤดูกาลละ 1 ครั้ง แล้วจำแนกชนิดพันธุ์ปลา เพื่อศึกษาโครงสร้างประชาคมปลา ได้แก่ พฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นฐาน (Migration) องค์ประกอบชนิดปลา (Percentage species composition; E-value) โอกาสในการพบชนิดปลา (Frequency of Occurrence: FO)

          3) การศึกษาค่าดัชนีทางนิเวศวิทยา ได้แก่ ค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพ (Diversity index) ดัชนีความเท่าเทียม (Evenness index: EI) ดัชนีความมากชนิดของปลา (Richness index: RI) ความอุดมสมบูรณ์ของปลาและความชุกชุมของปลา (Fish Abundance index: AI) และการศึกษาค่าดัชนีทางชีววิทยาของปลา ได้แก่ การศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์และดัชนีความสมบูรณ์เพศ (GSI) และการศึกษาชีววิทยาของปลาตะเพียนปากหนวด (Hypsibarbus vernayi) ตลอดจนการศึกษาคุณภาพน้ำบริเวณพื้นที่เก็บตัวอย่าง รูปแบบการทำการประมง ประสิทธิภาพของการใช้เครื่องมือประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการประเมินพื้นที่ที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านการประมง และนิเวศวิทยาทางน้ำจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในแม่น้ำโขง

2. ผลการศึกษาชนิดและความหลากหลายของแพลงก์ตอน

          ผลการศึกษาพบว่า ชนิดและความหลากหลายของแพลงก์ตอนทั้ง 2 ฤดูกาล พบแพลงก์ตอนพืชจำนวนทั้งสิ้น 5 ไฟลัม 76 ชนิด ไฟลัมที่พบมากที่สุด คือ สาหร่ายสีเขียว (Chlorophyta) จำนวน 31 ชนิด รองลงมา คือ ไดอะตอม (Chromophyta) สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyanophyta) และ Euglenophyta ตามลำดับ โดยในฤดูน้ำกำลังขึ้น (T1) และในฤดูน้ำขึ้นสูงสุด (T2) พบจำนวน 62 และ 47 ชนิด ตามลำดับ พื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของชนิดแพลงก์ตอนพืชมากที่สุด คือ จังหวัดมุกดาหาร หนองคาย นครพนม และอุบลราชธานี โดยชนิดเด่นและพบทั้ง 8 สถานี คือ กลุ่มไดอะตอม (Chromophyta) มีปริมาณหนาแน่นเฉลี่ย 2.9×103-1.83×104 เซลล์ต่อลิตร ส่วนกลุ่ม Cyanophyta และ Chlorophyta ที่พบปริมาณหนาแน่นเฉลี่ย 1.11-3.17×103 เซลล์ต่อลิตร โดยในช่วงฤดู T1 จะมีปริมาณสูงกว่าช่วงฤดู T2 ส่วนค่าดัชนีความหลากหลาย (Diversity index) และดัชนีความเท่าเทียม (Evenness index) ของแพลงก์ตอนพืชพบว่า ฤดู T1 มีค่าไม่แตกต่างจากฤดู T2 ส่วนผลการศึกษาแพลงก์ตอนสัตว์ พบทั้งหมด 4 ไฟลัม จำนวน 113 ชนิด (Species) ไฟลัมที่พบมากที่สุด คือ Protozoa จำนวน 58 ชนิด รองลงมา คือ Rotifera และ Arthopoda โดยในฤดู T1 พบจำนวน 59 ชนิด และฤดู T2 พบจำนวน 85 ชนิด พื้นที่พบการแพร่กระจายของชนิดแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุด คือ จังหวัดมุกดาหาร เชียงราย หนองคาย และนครพนม ชนิดของแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบมากที่สุดและพบทั้ง 8 สถานี คือ กลุ่มโปรโตซัว และโรติเฟอร์ โดยช่วงฤดู T1 มีปริมาณหนาแน่นเฉลี่ย 9.13-15.32 เซลล์ต่อลิตร และฤดู T2 มีปริมาณหนาแน่นเฉลี่ย 7.68-16.08 เซลล์ต่อลิตร ส่วนค่าดัชนีความหลากหลายและดัชนีความเท่าเทียม ในฤดู T1 พบว่ามีค่าระหว่าง 1.37-1.84 และ 0.57-0.68 ตามลำดับ และในฤดู T2 พบว่ามีค่าระหว่าง 1.52-2.09 และ 0.59-0.72 ซึ่งแต่ละพื้นที่มีค่าไม่แตกต่างกันมาก และจากผลการศึกษายังถือว่า     แม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์

3. ผลการศึกษาชนิดและความหลากหลายชนิดของปลา

          ผลการศึกษาชนิดและความหลากหลายชนิดของประชาคมของปลาในแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. 2564 พบจำนวนปลาทั้งหมดจากการสำรวจจำนวน 5,728 ตัว (คิดเป็นน้ำหนักรวม 1,146.66 กิโลกรัม) สามารถจำแนกปลาได้ทั้งสิ้น 31 วงศ์ 93 สกุล 157 ชนิด เป็นปลาพื้นถิ่น (Native species) 147 ชนิด และปลาต่างถิ่น (Alien species) 10 ชนิด โดยพบในช่วงฤดู T1 จำนวน 24 วงศ์ 71 สกุล 110 ชนิด และในช่วงฤดู T2 พบปลาจำนวน 26 วงศ์ 82 สกุล 134 ชนิด เป็นปลาเศรษฐกิจ จำนวน 84 ชนิด จากทั้ง 2 ฤดูกาล ผลการศึกษาในครั้งนี้พบปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (Family Cyprinidae) จำนวนมากที่สุด พบปลาที่อยู่ในข่ายวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (Critically Endangered) ใกล้สูญพันธุ์ (Endangerd) เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Near Threatened) จำนวน 4, 2, 9 และ 7 ชนิด ตามลำดับ

          จังหวัดที่พบจำนวนชนิดปลามากที่สุด คือ จังหวัดมุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ และเลย ส่วนจังหวัดที่พบน้อยที่สุด คือ เชียงราย และหนองคาย อย่างก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการสำรวจชนิดปลาในแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด พบว่าจำนวนชนิดปลามีแนวโน้มลดลง ก่อนการเปิดใช้เขื่อนระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 ที่พบปลาจำนวน 191, 196 และ 163 ชนิด ตามลำดับ และหลังเปิดใช้เขื่อน พ.ศ. 2563-2564 พบปลาจำนวน 170 และ 157 ชนิด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ชนิดปลาที่พบระหว่างปี พ.ศ. 2559-2564 มีจำนวน 261 ชนิด โดยมีปลาที่พบทั้งก่อนและหลังเปิดใช้เขื่อน 152 ชนิด ปลาที่พบเฉพาะก่อนเปิดใช้เขื่อน 62 ชนิด และปลาที่พบเฉพาะหลังเปิดใช้เขื่อน 45 ชนิด อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการยากที่จะสรุปว่าปลาชนิดใดหายไปหรือเพิ่มเข้ามาเพราะแม่น้ำโขงทั้งกว้างและยาวการสำรวจชนิดของปลาจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการ เครื่องมือ และพื้นที่ศึกษาที่หลากหลายและถูกวิธี และทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น

4. ผลการศึกษาโครงสร้างประชากรปลาตาม

          ผลการศึกษาโครงสร้างประชากรปลาตาม

          1) พฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นฐาน (Migration behavior) ที่อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการผสมพันธุ์วางไข่หรือเพื่อหาอาหาร แบ่งปลาออกเป็น 3 กลุ่ม พบว่า กลุ่มปลาขาว (White fish) เป็นกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกลระหว่างแม่น้ำสาขาหนึ่งสู่อีกแม่น้ำสาขาหนึ่ง เป็นการอพยพตามฤดูกาลเพียงครั้งเดียวในรอบปี กลุ่มปลาเทา (Grey fish) เป็นกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นที่มีระยะทางไม่ไกลมากระหว่างแม่น้ำกับปากแม่น้ำ เป็นการอพยพตามฤดูกาลเพียงแค่ครั้งเดียวในรอบปี และกลุ่มปลาดำ (Black fish) เป็นกลุ่มที่ไม่มีการอพยพย้ายถิ่น เพื่อการผสมพันธุ์วางไข่ แต่อาจมีการย้ายถิ่นในรอบวันเพื่อหาอาหารแต่มีระยะทางไม่ไกลอาจเคลื่อนที่ระหว่างหนองน้ำ บึง กับแม่น้ำที่อยู่ติดกับหนองบึงนั้น พบปลาทั้ง 3 กลุ่ม จำนวน 76, 52 และ 29 ชนิด ตามลำดับ คิดเป็น 48.40, 33.12 และ 18.47% ตามลำดับ

          2) การศึกษาองค์ประกอบชนิดของปลา (E-value) ด้วยอวนทับตลิ่งพบปลาแป้นแก้วมากที่สุด รองลงมา คือ ปลาน้ำฝาย ปลาซิวหนวดยาว ปลาถั่วงอกแม่โขง ปลาตะเพียนทอง และปลาเนื้ออ่อน ตามลำดับ

          3) ปลาที่มีโอกาสในการพบมากที่สุด คือ ปลาขาไก่ รองลงมา ได้แก่ ปลาซิวหนวดยาว ปลาแป้นแก้ว และปลาน้ำหมึกโคราช ตามลำดับ

          4) ผลการศึกษาชนิดปลาที่จับโดยชาวประมงในพื้นที่ 6 จังหวัด พบปลาจำนวนที่จับได้ 57 ชนิด เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนมากที่สุด โดยจับปลาได้มากที่สุดในเดือนกรกฎาคม มิถุนายน และสิงหาคม ตามลำดับ ชนิดปลาที่จับได้มากที่สุด คือ ปลากาดำ ปลาโจกเขียว ปลาปากเปลี่ยน ปลากดคัง และปลาตะเพียน จากการสำรวจพบว่า ทั้งชนิดและจำนวนปลาที่จับได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำทั้งระดับน้ำและอัตราการไหลของน้ำลดลง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ การเปลี่ยนแปลงน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาลได้ รวมถึงตะกอนของน้ำลดลงหรือน้ำใสจนเห็นเป็นสีครามและใสเป็นระยะเวลานานกว่าปกติหลังมีการเปิดใช้เขื่อน ทำให้พฤติกรรมการอพยพและการสืบพันธุ์ของปลาเปลี่ยนไปจากเดิม จำนวนปลาลดลง  ทำให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง

5. ผลการศึกษาค่าดัชนีทางนิเวศวิทยา

          ผลการศึกษาค่าดัชนีทางนิเวศวิทยาของปลาพบว่า ค่าดัชนีความหลากหลายชนิดพันธุ์ของปลา   ค่าดัชนีความเท่าเทียม และค่าดัชนีความมากชนิดของปลาในฤดู T1 มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าฤดู T2 โดยจังหวัดที่มีค่าความหลากหลายชนิดปลามากที่สุด คือ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหนองคาย ตามลำดับ จังหวัดที่มีค่าน้อยที่สุด คือ เชียงราย บึงกาฬ นครพนม และหนองคาย ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาก่อนการเปิดใช้เขื่อน ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในภาพรวม แต่จะมีค่าเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าระดับน้ำน้อยลง ทำให้ชาวประมงสามารถจับปลาได้ง่ายขึ้น หลายชนิดและจำนวนมากขึ้น และจะลดลงในอีกครั้งปี พ.ศ. 2564 ส่วนค่าความอุดมสมบูรณ์และความชุกชุมของปลาในฤดู T1 มีค่าระหว่าง 1.84-14.37 กิโลกรัม/ไร่ และ 436-1,244 ตัวต่อไร่ และในช่วงฤดู T2 มีค่าระหว่าง 2.03-20.04 กิโลกรัม/ไร่ และ 380-5,108 ตัว/ไร่ ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีค่าความอุดมสมบูรณ์และค่าความชุกชุมของปลามากที่สุด คือ บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม และอุบลราชธานี จังหวัดที่มีค่าน้อยที่สุด คือ หนองคาย อำนาจเจริญ และนครพนม ซึ่งค่าดัชนีความอุดมสมบูรณ์และความชุกชุมของปลามีแนวโน้มลดลงในบางพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี บึงกาฬ นครพนม และอำนาจเจริญ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเปิดใช้เขื่อนระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 และหลังเปิดใช้เขื่อนในปี พ.ศ. 2563 แต่กลับเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตามเพื่อให้เห็นความชัดเจนของผลกระทบด้านประมงควรทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

6. ผลการศึกษาลักษณะทางชีววิทยา 

          การศึกษาลักษณะทางชีววิทยาบางประการของปลาโดยการสำรวจการสืบพันธุ์และดัชนีความสมบูรณ์เพศของปลาจากการสำรวจตลาดและท่าขึ้นปลาในช่วงเวลาที่ศึกษา 2 ฤดูกาล พบปลาที่มีไข่ 22 ชนิด จำนวน 54 ตัว ได้แก่ ปลากาดำ ปลาดุกมูน ปลาเทโพ ปลากดเหลือง ปลากระมัง ปลาโจกเขียว และปลาเค้าขาว เป็นต้น โดยเมื่อประเมินพัฒนาการของไข่และค่าดัชนีความสมบูรณ์เพศ (GSI) ของปลา พบไข่อยู่ในระยะที่มีการพัฒนารังไข่เต็มที่ (Full developing) และผลการศึกษาลักษณะทางชีววิทยาของปลาตะเพียนปากหนวด (Hypsibarbus vernayi) ซึ่งทำการศึกษาเพื่อใช้เป็นดัชนีชีวภาพในพื้นที่เสี่ยงจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โดยการติดตามชีววิทยาการเติบโตและชีววิทยาการสืบพันธุ์ ซึ่งได้เลือกพื้นที่ 4 จังหวัดในการศึกษา คือ เลย บึงกาฬ นครพนม และ อุบลราชธานี จากการศึกษาพบว่า สมการความสัมพันธ์ระหว่างความยาวเหยียดกับน้ำหนักปลาตะเพียนปากหนวดมีความสัมพันธ์กันในแนวเส้นตรงเชิงบวก อัตราส่วนเพศระหว่างปลาเพศผู้และเพศเมียมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาหารและอุปนิสัยในการกินอาหารของปลาตะเพียนปากหนวดในแต่ละแหล่งไม่มีความแตกต่างกัน โดยพบอาหาร 5 กลุ่ม โดยแยกเป็นแมลงน้ำ (54%) แพลงก์ตอนสัตว์ (25%) แพลงก์ตอนพืช (18%) และสาหร่าย (3%) ตามลำดับ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ปลาตะเพียนปากหนวดเป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous fish) และผลการศึกษาคุณภาพน้ำบริเวณพื้นที่เก็บตัวอย่างทั้ง 8 สถานี ในทั้ง 2 ฤดูกาล พบว่าค่าคุณภาพน้ำทุกพารามิเตอร์ที่ทำการตรวจวิเคราะห์ เช่น การนำไฟฟ้า pH, DO, ค่าความขุ่น และค่าความโปร่งใส ยังคงมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

7. ผลการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้เครื่องมือประมงในการจับปลาในแม่น้ำโขง

          การศึกษารูปแบบการทำการประมงและประสิทธิภาพของการใช้เครื่องมือประมงจากการสำรวจและการสัมภาษณ์ พบว่า ชาวประมงที่จับปลาในแม่น้ำโขงมีการทำการประมงทุกหมู่บ้านตลอดลำน้ำ โดยเครื่องมือประมงที่ใช้มากที่สุดและใช้ตลอดทั้งปี คือ ข่าย (มอง) ที่มีขนาดตาตั้งแต่ 2.5-36 เซนติเมตร มีความยาวตั้งแต่ 120-600 เมตร มีการวางข่ายดักปลา 2-3 ชั้น และเบ็ดที่มีทั้งเบ็ดคันและเบ็ดราว ส่วนเครื่องอื่น ๆ เช่น แห ลอบ ไซ จั่น ช้อน และยอจะใช้ในบางฤดูกาล โดยทั่วไปชาวประมงจะออกจับปลาวันละ 2-5 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละประมาณ 2-3 ชั่วโมง ได้ปลาเฉลี่ย 3-10 กิโลกรัมต่อวัน ขึ้นกับฤดูกาล ปลาที่จับได้มากที่สุด คือ กลุ่มปลาตะเพียน กาดำ โจกเขียว คัง แค้ สังกะวาด กดเหลือง และกลุ่มปลาเนื้ออ่อน เป็นต้น ส่วนปลาที่จับได้น้อยกว่าเดิมหรือไม่พบมาหลายปี เช่น เทพา นวลจันทร์ ค้าวดำ กระเบนน้ำจืด ซวยเสาะ หว้าหน้านอ สะอี และบึก เป็นต้น โดยเครื่องมือที่มีค่าประสิทธิภาพของการจับปลา (CPUE) สูงที่สุด คือ ข่าย และเบ็ด และจังหวัดที่มีศักยภาพในการจับปลามากที่สุด คือ นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี และผลการประเมินค่ากำลังผลผลิตทางการประมง (Standing crop) จากการใช้อวนทับตลิ่งพบว่าจังหวัดที่มีค่าสูงที่สุด คือ นครพนม บึงกาฬ และอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม ผลการจับปลาของชาวประมงส่วนใหญ่พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 จะจับปลาได้ลดน้อยลงกว่าช่วงก่อนการเปิดใช้เขื่อน ทั้งนี้เนื่องจากความผันผวนของระดับและอัตราการไหลของน้ำขึ้นลงผิดปกติไม่เป็นไปตามฤดูกาล ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ ทำให้ไม่สามารถออกจับปลาบางช่วงเวลา จับปลาได้ยากขึ้น จำนวนปลาลดลง และปลาไม่วางไข่ตามฤดูกาล ระดับน้ำลดต่ำกว่าปกติและลดเป็นระยะเวลานาน และน้ำใสนานกว่าปกติ

8. ผลการศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

          ผลการศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด ในพื้นที่ 19 อำเภอ เพื่อประเมินสถานภาพทางเศรษฐกิจการเลี้ยงปลา พบว่า ปลาที่มีการเลี้ยงในกระชัง มีจำนวน 3 ชนิด คือ ปลานิล ปลาทับทิม และปลากดหลวง โดยจังหวัดนครพนม หนองคาย และมุกดาหาร มีการเลี้ยงมากที่สุด การเลี้ยงปลามีทั้งการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเองและการเลี้ยงแบบพันธสัญญา เกษตรกรส่วนใหญ่มีกระชัง 20-50 กระชัง ขนาดกระชัง 3x3x2 เมตร อัตราการปล่อย 1,000-1,500 ตัวต่อกระชัง ระยะเวลาเลี้ยง 130-150 วันผลผลิต 600-1,000 กิโลกรัมต่อกระชัง ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำโขง ได้แก่ ลูกพันธุ์ปลาคุณภาพไม่ดีทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตช้า ราคาอาหารปลาแพงและราคาไม่แน่นอน ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตสูง ราคาปลาตกต่ำ สภาพแวดล้อมและคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงที่มีความผันผวนผิดปกติ ไม่สามารถคาดเดาการขึ้นลงของน้ำได้ หากเคลื่อนย้ายกระชังไม่ทันจะเกิดความเสียหาย เพราะทำให้ปลาเครียด กินอาหารลดลง และอาจทำให้ปลาป่วย ระดับน้ำที่น้อยลงช่วงฤดูแล้งทำให้น้ำร้อน อาจทำให้ปลาจะช็อคและป่วยได้ ปัญหาการเกิดโรคที่เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อความสูญเสีย และการขาดทุนของการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยทั่วไปเกิดเนื่องจากความผันผวนของน้ำและคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน

9. ผลการประเมินพื้นที่ที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านการประมงและนิเวศวิทยาทางน้ำ

          การประเมินพื้นที่ที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านการประมงและนิเวศวิทยาทางน้ำโดยแบ่งเกณฑ์การประเมินออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) บริเวณแหล่งจับคู่ผสมพันธุ์หรือเลี้ยงตัวอ่อน 2) บริเวณที่มีการประกอบอาชีพประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปริมาณมาก และ 3) จำนวนชนิดของปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งการประเมินจะแบ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับความสำคัญสูง ปานกลาง และน้อย คือ พื้นที่ที่เป็นแหล่งความสำคัญครบทั้ง 3, 2 และ 1 ด้านหรือไม่มีแหล่งความสำคัญด้านใดเลย ตามลำดับ จากการศึกษาและประเมินผลความเสี่ยงข้างต้นพบพื้นที่ที่มีระดับความสำคัญสูง ทั้งหมด 9 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอปากชม จังหวัดเลยอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ  อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อำเภอเมืองและอำเภอดอนตาล  จังหวัดมุกดาหาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอนาตาลและอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งความสำคัญด้านประมงและนิเวศวิทยาทางน้ำครบทั้ง 3 ด้าน ผลการศึกษาด้านประมงจากการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดรูปแบบและสามารถใช้กำหนดเป็นมาตรการหรือนโยบายด้านการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรด้านประมงได้อย่างถูกต้องภายใต้โครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานในระยะยาว รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานและแม่แบบในการกำหนด แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และเกิดการใช้ทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนหรือนำไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบการศึกษาในการประเมินแหล่งน้ำอื่น ๆ ต่อไป