กิจกรรมสำรวจด้านการประมง ปี 2565

          ช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2565 – มีนาคม 2566  คณะนักวิจัยโครงการฯ ได้ดำเนิน การสำรวจและเก็บข้อมูลปฐมภูมิในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ด้านประมงเพื่อการบ่งชี้ ยืนยันพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อผลผลิตประมงวงจรชีวิต การผสมพันธุ์ การวางไข่ การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่น การหลงฤดู การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเก็บแหล่งอาหารของปลา ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำแล้ง การสำรวจและเก็บตัวอย่างปลาในแม่น้ำโขงสายประธาน ในพื้นที่ 8 จังหวัด ทำการเก็บตัวอย่างจังหวัด ละ 1 สถานี ๆ ละ 3 ครั้ง ในช่วง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูน้ำขึ้นสูงสุด (A1) และฤดูน้ำแล้ง (A2) ระหว่างเดือนกันยายน 2565 – มีนาคม 2566

          – การจับปลาด้วยอวนทับตลิ่ง ทำการจับปลาและสัตว์น้ำโดยใช้อวน 2 ขนาด คือ 1) อวนที่มีขนาดตาอวน 2×2เซนติเมตร ความยาว 40 เมตรและความกว้าง 7 เมตร เพื่อใช้เก็บตัวอย่างปลาขนาดใหญ่ และ 2) อวนตาถี่ทำด้วยมุ้งไนลอนสีฟ้า ขนาด 16 ตา ความยาว 12 เมตร และความกว้าง 5 เมตร เพื่อใช้เก็บตัวอย่างปลาขนาดเล็ก

– การสำรวจตลาด การศึกษาชนิดพันธุ์ของปลาในแม่น้ำโขง โดยการสำรวจจากตลาดและท่าขึ้นปลาเพื่อศึกษาชนิดและปริมาณปลาเศรษฐกิจที่จับมาจากการทำประมงในแม่น้ำและพื้นที่ศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 45 แห่ง 22 อำเภอ รายละเอียดที่ทำการบันทึกระหว่างการดำเนินการสำรวจตลาดในท้องถิ่น คือ 1) สถานที่เก็บตัวอย่าง และพิกัด 2) ชนิดของปลา 3) ชั่งวัดขนาดของปลาทั้งความยาวและน้ำหนักเป็นรายตัวในแต่ละชนิด 4) การสำรวจการเจริญพันธุ์และอวัยวะสืบพันธุ์ของปลา พร้อมชั่งน้ำหนักปลาและอวัยวะสืบพันธุ์ และ 5) บันทึกภาพด้วยด้วยกล้องดิจิทัล

ภาพตัวอย่าง การดำเนินการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำด้วยอวนทับตลิ่ง ระหว่างวันที่ 9 กันยายน – 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม พ.ศ. 2566

ภาพตัวอย่าง  การสำรวจตลาด ฤดูกาลน้ำขึ้นสูงสุดและฤดูแล้งระหว่างวันที่ 9 กันยายน – 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม พ.ศ. 2566