ด้านเศรษฐกิจ สังคม

เกษตรริมฝั่ง ปี พ.ศ. 2563

          คณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้านโดยการสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้าน และแบบสอบถามหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจเกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่ได้ดังนี้

1. การสุ่มตัวอย่าง

          การศึกษากลุ่มอาชีพเกษตรริมฝั่ง และประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามผู้นำหมู่บ้านและแบบสอบถามผู้นำครัวเรือน โดยกำหนดประชากร คือ ครัวเรือนที่ทำอาชีพที่พึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลัก ได้แก่ การเกษตรกรรม ประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอที่มีระยะห่างจากแม่น้ำโขงไม่เกิน 15 ก.ม. กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 427 ชุด มีการสุ่มตัวอย่างแบบสามขั้น (Three-stage sampling) ขั้นที่ 1 สุ่มตัวอย่างแบบโควตา (Quota Sampling) ตามสัดส่วนของประชากรในพื้นที่ ขั้นที่ 2 สุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) กำหนดให้เก็บข้อมูลกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ และอาชีพประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ ขั้นที่ 3 สุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Random Sampling)

2. ผลการศึกษาขั้อมูลทั่วไป

          – ครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการเกษตรกรรม โดยมีจำนวน 301 ครัวเรือน (ร้อยละ 64) พบมากที่ จ.มุกดาหาร (50 ครัวเรือน) และ จ.อุบลราชธานี (50 ครัวเรือน) พืชที่ครัวเรือนเพาะปลูกมากที่สุดคือข้าว 227 ครัวเรือน (ร้อยละ 75) ตามด้วยพริก 132 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) และข้าวโพด 108 ครัวเรือน (ร้อยละ 36)

          – กรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่เป็นของตนเองหรือครอบครัว จำนวน 252 ครัวเรือน (ร้อยละ 86) พื้นที่การเกษตรมีขนาดพื้นที่เฉลี่ย 10 ไร่ โดยค่าเฉลี่ยสูงสุดที่ จ.เลย (20 ไร่) และค่าเฉลี่ยต่ำสุดที่  จ.นครพนม (6 ไร่) ครัวเรือนมีรายได้จากการเกษตรกรรมเฉลี่ย 65,911 บาทต่อปี เฉลี่ยสูงสุดที่ จ.บึงกาฬ (139,216 บาท) และเฉลี่ยต่ำสุดที่ จ.เชียงราย (20,121 บาท)

          – น้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลักที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม จำนวน 147 ครัวเรือน (ร้อยละ 49) ครัวเรือนสูบน้ำจากแม่น้ำโขงโดยตรง จำนวน 77 ครัวเรือน (ร้อยละ 26) โดยพบมากที่ จ.นครพนม (28 ครัวเรือน)

3. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

          – ผลกระทบจากแม่น้ำโขงขาดน้ำที่มีต่อครอบครัวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ จำนวน 167 ครัวเรือน (ร้อยละ 56) ผลกระทบมากโดยพืชผลเสียหายเกือบทั้งหมดจำนวน 13 ครัวเรือน (ร้อยละ 4) พบมากที่ จ.อุบลราชธานี  (11 ครัวเรือน)

          – ผลกระทบจากแม่น้ำโขงเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่มีต่อครอบครัวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ จำนวน 171 ครัวเรือน (ร้อยละ 57) และผลกระทบมากโดยพืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด จำนวน 16 ครัวเรือน (ร้อยละ 5) พบมากที่ จ.อุบลราชธานี (10 ครัวเรือน)

– ผลกระทบจากแม่น้ำโขงเกิดตลิ่งพังที่มีต่อครอบครัวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ จำนวน 206 ครัวเรือน (ร้อยละ 69) และผลกระทบมากโดยพืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด จำนวน 9 ครัวเรือน (ร้อยละ 3) พบมากที่ จ.อุบลราชธานี (8 ครัวเรือน)

          – การเปลี่ยนแปลงของการทำเกษตรกรรมในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่เห็นว่าปริมาณการผลิตเท่าเดิม จำนวน 125 ครัวเรือน (ร้อยละ 43) การเจริญเติบโตของพืชเท่าเดิม จำนวน 135 ครัวเรือน (ร้อยละ 47) รายได้จากการขายผลผลิตลดลง จำนวน 155 ครัวเรือน (ร้อยละ 54) โดยพบมากที่   จ.อุบลราชธานี (34 ครัวเรือน) จำนวนเกษตรกรเท่าเดิม จำนวน 215 ครัวเรือน (ร้อยละ 75) ขนาดพื้นที่ ทำการเกษตรเท่าเดิม จำนวน 243 ครัวเรือน (ร้อยละ 86) การใช้ปุ๋ยชีวภาพเท่าเดิม จำนวน 176 ครัวเรือน   (ร้อยละ 61) และการใช้ปุ๋ยสารเคมี สารกำจัดศัตรูพืชลดลง จำนวน 139 ครัวเรือน (ร้อยละ 48)

4. การปรับตัวด้านการเกษตรกรรม

          ครัวเรือนมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรกรรมส่วนใหญ่โดยลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร จำนวน 181 ครัวเรือน (ร้อยละ 67) พบมากที่จ.มุกดาหาร (32 ครัวเรือน) และ จ.บึงกาฬ (32 ครัวเรือน)

5. การศึกษากลุ่มอาชีพเกษตรริมฝั่ง

          ขอบเขตในการศึกษากลุ่มอาชีพเกษตรริมฝั่ง คือ 1) ครัวเรือนที่มีรายได้จากการเกษตรกรรม 2) ที่ดินเพื่อการเกษตรมีระยะห่างจากแม่น้ำโขงหรือลำน้ำสาขาไม่เกิน 150 เมตร เนื่องจากครัวเรือนที่มีที่ดินเพื่อการเกษตรในระยะนี้ส่วนใหญ่พึ่งพาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรจากการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงโดยตรง 3) แหล่งน้ำหลักเพื่อการเกษตรกรรมสูบน้ำจากแม่น้ำโขงโดยตรง

                  1) ลักษณะทั่วไป พบว่า ครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตรริมฝั่ง จำนวน 28 ครัวเรือน โดยพบมากที่  จ.นครพนม (8 ครัวเรือน) พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ คือ พริก (20 ครัวเรือน) ข้าวโพด (18 ครัวเรือน) และข้าว (18 ครัวเรือน)  ครัวเรือนมีกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรริมฝั่งส่วนใหญ่เป็นของตนเองหรือครอบครัวจำนวน 20 ครัวเรือน พื้นที่เช่าจากผู้อื่น จำนวน 4 ครัวเรือน และได้รับการจัดสรรจากผู้นำชุมชนจำนวน 3 ครัวเรือน ขนาดที่ดินเพื่อการเกษตรริมฝั่งเฉลี่ย 4.4 ไร่ สูงสุดที่ จ.หนองคาย (7.4 ไร่) และต่ำสุดที่ จ.อำนาจเจริญ (1.8 ไร่) รายได้จากการเกษตรริมฝั่งเฉลี่ย 46,271 บาท/ปี สูงสุดที่ จ.หนองคาย (175,750 บาท/ปี) ต่ำสุดที่ จ.เชียงราย (12,000 บาท/ปี)

                  2) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง พบว่า ผลกทระทบจากแม่น้ำโขงขาดน้ำที่มีต่อการเกษตรริมฝั่งส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับปานกลาง โดยพืชผลเสียหายมากกว่าครึ่ง จำนวน 11 ครัวเรือน และได้รับผลกระทบมากโดยพืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด จำนวน 3 ครัวเรือน ที่ จ.อุบลราชธานี (3 ครัวเรือน)

                           – ผลกทระทบจากแม่น้ำโขงเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่มีต่อการเกษตรริมฝั่งส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับปานกลาง โดยพืชผลเสียหายมากกว่าครึ่ง จำนวน 10 ครัวเรือน และได้รับผลกระทบมากโดยพืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด จำนวน 4 ครัวเรือน พบมากที่ จ.อุบลราชธานี (3 ครัวเรือน)

                           – ผลกทระทบจากแม่น้ำโขงเกิดตลิ่งพังที่มีต่อการเกษตรริมฝั่งส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับปานกลางโดยพืชผลเสียหาย มากกว่าครึ่ง จำนวน 10 ครัวเรือน และได้รับผลกระทบมากโดยพืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด จำนวน  3 ครัวเรือน พบมากที่ จ.อุบลราชธานี (3 ครัวเรือน)

         คณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้านโดยการสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้าน จำนวน 41 คน และแบบสอบถามหัวหน้าครัวเรือน จำนวน 427 คน ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจเกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่ได้ดังนี้

1. การเกษตรกรรมบนฝั่ง

          ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดที่ประกอบอาชีพการเกษตรกรรมบนฝั่ง มีจำนวน 278 ครัวเรือน (ร้อยละ 65) โดยจังหวัดอำนาจเจริญ มีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมบนฝั่งสูงที่สุด จำนวน 29 ครัวเรือน (ร้อยละ 94) ในขณะที่จังหวัดเชียงรายมีสัดส่วนต่ำที่สุด จำนวน 19 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) และจังหวัดนครพนม จำนวน  36 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) ชนิดของพืชที่มีการเพาะปลูกบนฝั่งทั้ง 8 จังหวัดสูงสุด 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว จำนวน 177 ครัวเรือน (ร้อยละ 64) พริก จำนวน 144 ครัวเรือน (ร้อยละ 52) มะเขือ จำนวน 133 ครัวเรือน (ร้อยละ 48) ผักชี จำนวน 118 ครัวเรือน (ร้อยละ 42) และต้นหอม จำนวน 112 ครัวเรือน (ร้อยละ 40)

          ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด พึ่งพาแหล่งน้ำจากการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรกรรมบนฝั่งสูงที่สุด จำนวน 102 ครัวเรือน (ร้อยละ 37) โดยจังหวัดหนองคาย มีการพึ่งพาแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตร บนฝั่งสูงสุด จำนวน 36 ครัวเรือน  (ร้อยละ 82) รองลงมา คือ จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 28 ครัวเรือน  (ร้อยละ 68) ซึ่งแสดงให้เห็นความเสี่ยงของจังหวัดหนองคายหากแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

                  – ด้านปริมาณผลผลิตทางการเกษตรบนฝั่ง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด   ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนฝั่งส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตลดลง จำนวน 147 ครัวเรือน (ร้อยละ 53) โดยจังหวัดที่สัดส่วนของครัวเรือนมีผลผลิตทางการเกษตรบนฝั่งลดลงสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน  27 ครัวเรือน (ร้อยละ 93)

                  – ด้านการเจริญเติบโตของพืชจากการเกษตรบนฝั่ง พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตของพืชลดลง จำนวน 123 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) โดยจังหวัดที่มีความรุนแรงของปัญหานี้สูงสุด คือ จังหวัดเลย จำนวน 24 ครัวเรือน (ร้อยละ 96)

                  – ด้านรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรบนฝั่ง พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง จำนวน 173 ครัวเรือน (ร้อยละ 62) โดยจังหวัดที่มีความรุนแรงของปัญหารายได้จากการขายผลผลิตสูงสุด คือ จังหวัดเลยจำนวน 24 ครัวเรือน (ร้อยละ 96)

                  – ด้านจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมบนฝั่ง พบว่า หัวหน้าครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดเห็นว่าจำนวนเกษตรกรเท่าเดิม จำนวน 166 ครัวเรือน (ร้อยละ 60) ในด้านพื้นที่ทำการเกษตรกรรมบนฝั่ง พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมบนฝั่งจำนวนเท่าเดิม จำนวน 195 ครัวเรือน (ร้อยละ 70)

                  – ด้านการเป็นเกษตรอินทรีย์ พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ยังมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพเท่าเดิม จำนวน 128 ครัวเรือน (ร้อยละ 46) โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีแนวโน้มการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชลดลง จำนวน 110 ครัวเรือน (ร้อยละ 40)

          ครัวเรือนที่ทำการเกษตรบนฝั่งทั้ง 8 จังหวัดมีการปรับตัว จำนวน 247 ครัวเรือน (ร้อยละ 89) โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนการปรับตัวสูงที่สุดคือจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 29 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) และจังหวัดเชียงราย จำนวน 19 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) โดยวิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรบนฝั่ง ได้แก่ การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร จำนวน 195 ครัวเรือน (ร้อยละ 79) รองลงมา คือ การเฝ้าระวังการปล่อยน้ำจากเขื่อน จำนวน 189 ครัวเรือน (ร้อยละ 77) และการป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงในแม่น้ำ จำนวน 191 ครัวเรือน (ร้อยละ 77)

2. การเกษตรกรรมริมฝั่ง

          ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดที่ประกอบอาชีพการเกษตรกรรมริมฝั่งมีจำนวน 170 ครัวเรือน (ร้อยละ 40) โดยจังหวัดอุบลราชธานีมีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมริมฝั่งสูงที่สุด จำนวน 34 ครัวเรือน (ร้อยละ 58) ในขณะที่จังหวัดบึงกาฬมีสัดส่วนต่ำที่สุด จำนวน 12 ครัวเรือน (ร้อยละ 27)

          ชนิดของพืชที่ครัวเรือนเพาะปลูกริมฝั่งทั้ง 8 จังหวัดสูงสุด 5 ชนิด ได้แก่ พริก จำนวน 121 ครัวเรือน (ร้อยละ 71) มะเขือ จำนวน 101 ครัวเรือน (ร้อยละ 59) ต้นหอม จำนวน 97 ครัวเรือน (ร้อยละ 57) ผักชี จำนวน 96 ครัวเรือน (ร้อยละ 56) และมะเขือเทศ จำนวน 92 ครัวเรือน (ร้อยละ 54)

          ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดพึ่งพาแหล่งน้ำจากการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อทำการเกษตรริมฝั่งสูงที่สุด จำนวน 113 ครัวเรือน (ร้อยละ 66) จังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรริมฝั่งสูงสุด คือ จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 14 ครัวเรือน (ร้อยละ 93) ซึ่งแสดงให้เห็นความเสี่ยงของจังหวัดมุกดาหารหากแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

          การเปลี่ยนแปลงของการทำเกษตรริมฝั่งในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด    ส่วนใหญ่เห็นว่าตนเองมีปริมาณผลผลิตลดลง จำนวน 76 ครัวเรือน (ร้อยละ 45) โดยจังหวัดอำนาจเจริญ  มีสัดส่วนของครัวเรือนที่เห็นว่าผลผลิตลดลงสูงที่สุด จำนวน 14 ครัวเรือน (ร้อยละ 93)

                  – ด้านการเจริญเติบโตของพืช ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่เห็นว่ามีการเจริญเติบโตของพืชลดลง จำนวน 71 ครัวเรือน (ร้อยละ 42) โดยจังหวัดบึงกาฬ มีสัดส่วนครัวเรือนที่เห็นว่าการเติบโตของพืชลดลงสูงที่สุด จำนวน 12 ครัวเรือน (ร้อยละ 100)

                  – ด้านรายได้จากการขายผลผลิต ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่เห็นว่าครัวเรือนของตนเองมีรายได้จากการขายผลผลิตลดลง จำนวน 86 ครัวเรือน (ร้อยละ 51) โดยจังหวัดที่มีความรุนแรงของปัญหานี้สูงที่สุดคือ จังหวัดเลย จำนวน 8 ครัวเรือน (ร้อยละ 80)

                  – ด้านจำนวนเกษตรกร ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่เห็นว่าในหมู่บ้านตนเองนั้นมีจำนวนเกษตรกรเท่าเดิม จำนวน 100 ครัวเรือน (ร้อยละ 59) โดยจังหวัดเลยมีสัดส่วนของครัวเรือนที่เห็นว่าจำนวนเกษตรกรลดลงสูงที่สุด จำนวน 8 ครัวเรือน (ร้อยละ 80) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรายได้จากการขายผลผลิต

                  – ด้านพื้นที่เกษตรกรรม ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองมีพื้นที่เกษตรกรรมเท่าเดิม จำนวน 104 ครัวเรือน (ร้อยละ 61) โดยจังหวัดเลยมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีพื้นที่เกษตรกรรมลดลงสูงที่สุด จำนวน 8 ครัวเรือน (ร้อยละ 80) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรายได้จากการขายผลผลิตและจำนวนเกษตรกร

                  – ด้านการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยชีวภาพเท่าเดิม จำนวน 84 ครัวเรือน (ร้อยละ 49) โดยจังหวัดเลยมีสัดส่วนของครัวเรือนที่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยชีวภาพลดลงสูงที่สุด จำนวน 7 ครัวเรือน (ร้อยละ 70)

                  – ด้านการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยเคมีและ สารกำจัดศัตรูพืชเท่าเดิม จำนวน 72 ครัวเรือน (ร้อยละ 42) โดยจังหวัดอำนาจเจริญมีสัดส่วนของครัวเรือนที่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นสูงที่สุด จำนวน 9 ครัวเรือน (ร้อยละ 60)

                  – ด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรกรรมริมฝั่ง พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด ที่ทำการเกษตรริมฝั่งทั้ง 8 จังหวัดมีการปรับตัวจำนวน 152 ครัวเรือน (ร้อยละ 89) โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนการปรับตัวสูงที่สุด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 15 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) และจังหวัดบึงกาฬ จำนวน  12 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) โดยวิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรกรรมริมฝั่ง ได้แก่  การป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงในแม่น้ำ จำนวน 124 ครัวเรือน (ร้อยละ 82)

 

Scroll to Top