หลักการและแนวทาง

หลักการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ปีงบประมาณ พ.ศ.2565

หลักการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนสำคัญและเป้าหมายการศึกษา ปี 2565 คือการรวบรวม จัดทำ และปรับปรุงฐานข้อมูลของผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนด้านต่าง ๆ ตามลำดับ รวมทั้งได้มีการศึกษาและปรับปรุงแนวทางวิธีการศึกษาขอบเขตพื้นที่ศึกษาและแสวงหาเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อเป้าหมายให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีความถูกต้องตามหลักวิชาการและทำให้ข้อมูลเหล่านั้นสามารถบ่งชี้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นและนำไปสู่การประเมินแนวโน้มความเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดแม่น้ำโขงสายประธานในอาณาเขตของประเทศไทย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องน่าเชื่อถือตลอดจนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งในการแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ เป้าหมายการศึกษา ปี 2565 จึงมุ่ง การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และความก้าวหน้าตามแผนระยะเวลา 15 ปี ดังนี้

          1)  การจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานและสภาพการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคมของพื้นที่ 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขงสายประธาน เน้นประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดน

          2)   การคัดเลือกและพัฒนาวิธีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เนื่องจากการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ให้เป็นแบบแผนและพื้นฐานที่จะใช้ตลอด 15 ปี

          3)   การนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ได้จากการศึกษา เผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยง พร้อมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาในระยะ 10 ปีถัดไป นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้ตามหลักวิชาการ

          4)   การส่งเสริมประชาชนในพื้นที่เสี่ยงของประเทศไทย ในขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคมเศรษฐกิจของลุ่มน้ำโขง รวมถึงกลไก และมาตรการชดเชยและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมสร้างกลไกและกระบวนการให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้มีขีดความสามารถในการติดตาม เฝ้าระวังและประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน

แนวทางการวิเคราะห์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

  1. 1. แนวทางการสำรวจและรวบรวมข้อมูล

          ข้อมูลปฐมภูมิ และ/หรือข้อมูลทุติยภูมิ สำหรับผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนด้านต่าง ๆ ในพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงที่ยังต้องการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันประกอบด้วย:

  • การสำรวจและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2557-2564 ด้านอัตราการไหลของน้ำและระดับน้ำจากสถานีอุทกวิทยาและการพังทลายของตลิ่ง และการสะสมของตะกอนให้ได้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน
  • การสำรวจและเก็บข้อมูลปฐมภูมิในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ด้านประมงเพื่อการบ่งชี้ ยืนยันพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อผลผลิตประมง วงจรชีวิต การผสมพันธุ์ การวางไข่ การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่น การหลงฤดู การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเก็บแหล่งอาหารของปลา ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำแล้ง

          การสำรวจและเก็บข้อมูลปฐมภูมิด้านคุณภาพน้ำ อาทิ ดัชนี ได้แก่ อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง ออกซิเจนละลาย การนำไฟฟ้า ความขุ่น สารแขวนลอย แอมโมเนีย-ไนโตรเจน ไนไตรท์-ไนโตรเจนไนเตรท-ไนโตรเจน ฟอสเฟต และฟอสฟอรัสทั้งหมด สารอาหารในน้ำของพื้นที่แหล่งผลผลิตประมงในฤดูน้ำมากและน้ำน้อย

  • การสำรวจและเก็บข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิด้านเศรษฐกิจสังคม การให้บริการระบบนิเวศ (อาหาร ท่องเที่ยว วิถีชีวิตและวัฒนธรรม) ของพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจสังคมเพื่อเชื่อมโยงการประเมินด้านกายภาพ ชีวภาพ และเศรษฐกิจสังคมที่สามารถประเมินมูลค่าผลประโยชน์และความเสียหายทางเศรษฐกิจได้โดยใช้ Social Impact Monitoring and Vulnerability Assessment (SIMVA) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเก็บข้อมูลหรือเครื่องมือที่เหมาะสมเพิ่มเติม
  • การสำรวจและรวบรวมข้อมูลข้อ 1-4 ให้ดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยอาจพิจารณาขยายเครือข่ายเพิ่มเติมจากการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
  1. แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล

                 1) วิเคราะห์อัตราการไหลและระดับน้ำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตะกอน การกัดเซาะ และการย้ายถิ่นของปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ

                 2) กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ของอัตราการไหลและระดับน้ำในแต่ละช่วงการพัฒนาเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน

                 3) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแหล่งที่อยู่และการเจริญเติบโตของปลาจากฐานข้อมูลและผลการศึกษาที่ผ่านมา

                 4) ติดตามและวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำที่สำคัญ

                 5) วิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนและทบทวนพื้นที่เสี่ยงจากด้านกายภาพ (อัตราการไหลและระดับน้ำ ตะกอนในน้ำ คุณภาพน้ำ) ที่ส่งผลต่อด้านชีวภาพ (ประมง เกษตรริมฝั่ง) และส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจสังคม การให้บริการระบบนิเวศ (อาหาร ท่องเที่ยว วิถีชีวิตและวัฒนธรรม) พร้อมเปรียบเทียบกับผลการศึกษาปีที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอดีตและอนาคต

  1. การติดตามพื้นที่เสี่ยง ความรุนแรง และดัชนีที่เกี่ยวข้อง

                 การศึกษาและการติดตามพื้นที่เสี่ยง ความรุนแรง และดัชนีที่เกี่ยวข้องจากปีที่ผ่านมา และขยายพื้นที่ที่มีแนวโน้มเพิ่มเติมในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงที่เป็นพื้นที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อขยายขอบเขตการศึกษาและติดตามประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และสร้างองค์ความรู้ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนสำหรับดำเนินการในปีต่อไป

  1. การศึกษากลไก และมาตรการชดเชยและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

               เพื่อการเสนอแนะข้อเสนอเชิงนโยบายเบื้องต้นด้านการชดเชยและแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากผลกระทบด้านสิ่งแวดส้อมและสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ที่สอดคล้องกับผลการศึกษาและพื้นที่เสี่ยง

  1. การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

              การจัดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเผยแพร่ผลการศึกษาอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยประกอบด้วยผู้แทนจาก 8 จังหวัดในพื้นที่ศึกษา ทั้งนี้ สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับมาตรการสาธารณสุข

          6. การเผยแพร่ข้อมูล

              โดยการเพิ่มเติมข้อมูลและผลการศึกษาและเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ