หลักการและแนวทาง

หลักการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562

โครงการฯ ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อ้างอิงตามหลักการและเครื่องมือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (Trans-boundary Environmental Impact Assessment : TbEIA, MRC) และนำผลที่ได้มาประเมิน และตรวจสอบอีกครั้งว่าพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงที่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่ช่วงต้นโครงการนั้น มีความเสี่ยงตามที่ได้ตั้งสมมติฐานและประเมินไว้ในเบื้องต้นหรือไม่ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2561 โดยแบ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 ด้าน คือผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC, 2009) โครงการฯ ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบข้ามพรมแดนที่มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทย จากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ การวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ดังแสดงในรูปที่ 1 สำหรับผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่โครงการฯ ได้ดำเนินการประเมินนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบข้ามพรมแดนโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • 1) ด้านกายภาพ : โครงการจะทำการวิเคราะห์ประเมินในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
    • ระดับน้ำและอัตราการไหลของน้ำ
    • การพังทลายของตลิ่ง
    • การสะสมของตะกอน
    • คุณภาพน้ำและอื่น ๆ
  • 2) ด้านชีวภาพ : โครงการได้ทำการวิเคราะห์ประเมินในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ
    • ประมง

2. ด้านเศรษฐกิจและสังคม

การวิเคราะห์จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนด้านการให้บริการของระบบนิเวศ และผลกระทบด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และความเปราะบาง โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงให้เกิดการเชื่อมโยง (causal linkages) ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านเศรษฐกิจสังคมในประเด็นข้ามพรมแดน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบหลัก (primary impacts) ผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องตามมา (secondary and tertiary impacts) มากน้อย และเชื่อมโยงกับผลกระทบข้ามพรมแดน ในขอบเขตพื้นที่เสี่ยงสูงได้ในระดับใด และมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยได้นำแนวทางการติดตามผลกระทบด้านสังคมและการวิเคราะห์ความเปราะบาง (Social Impact Monitoring and Vulnerability Assessment) มาใช้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง แต่จะมีการปรับปรุงแบบสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่จะสามารถนำมาประเมินเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

รูปที่ 1 กรอบแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

แนวทางการวิเคราะห์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

ตามหลักการของการวิเคราะห์ผลการศึกษาการไหลของน้ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Flow Assessment) มีขั้นตอนการวิเคราะห์ผลเบื้องต้น ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : การเลือกตำแหน่งและขอบเขตพื้นที่ใช้เป็นตัวแทนการศึกษา

พิจารณาและอธิบายโครงการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสภาพของแม่น้ำและการใช้ประโยชน์และบริการที่แม่น้ำให้ โดยการใช้แผนที่ ฐานข้อมูล การสำรวจ ความรู้ในท้องถิ่น เพื่อชี้ส่วนของแม่น้ำที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ ในขั้นตอนนี้จะใช้ข้อมูลผลการศึกษาปีก่อนหน้า เพื่อเลือกพื้นที่มีแนวโน้มได้รับความเสี่ยงสูง ต่อผลกระทบข้ามพรมแดนด้านต่างๆ และพื้นที่ตัวแทนการให้บริการระบบนิเวศด้านต่างๆ เป็นพื้นที่ศึกษา เพื่อประเมินการบูรณาการผลกระทบข้ามพรมแดนด้านต่างๆ

ขั้นตอนที่ 2 : การบ่งชี้และประเมินสภาพทรัพยากรพื้นฐานที่มีคุณค่า (assets) ทั้งในปัจจุบันและคาดไว้ในอนาคต

การบ่งชี้และประเมินทรัพยากรพื้นฐานที่คุณค่าของแม่น้ำประกอบด้วยด้านนิเวศ สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมนี้ส่วนใหญ่แล้วขึ้นกับว่าชุมชนให้คุณค่ามากน้อยเพียงไร และสิ่งนั้นให้ประโยชน์หรือไม่เพียงไร (เช่น การให้บริการระบบนิเวศ) ทรัพยากรพื้นฐานที่มีค่าเหล่านี้ ไม่ได้จำกัดเพียงที่อยู่ในรูปกายภาพ ในภูมิประเทศ ในพื้นที่เท่านั้น แต่รวมถึงกระบวนการ แหล่งที่อยู่ ชนิดสิ่งมีชีวิต การบ่งชี้และประเมินดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะจะใช้ข้อมูลจากผลการศึกษาปีก่อนหน้า มาประเมินทรัพยากรที่มีคุณค่า

ขั้นตอนที่ 3 : การอธิบายลักษณะและระบบอุทกวิทยา ในปัจจุบันและตามธรรมชาติ

การหาลักษณะการไหลของน้ำตามธรรมชาติและในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาอุทกวิทยา ที่มีความผันแปรตามเวลา รายวัน รายเดือน รายฤดูกาล และรายปี และทำการประเมินการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในแม่น้ำ ให้ทราบสัดส่วนความมากน้อย (percentiles) เข้าใจการแยกแยะการไหลพื้นฐาน (base flow) ตลอดจนการวิเคราะห์ความถี่และช่วงเวลาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยใช้ข้อมูลการศึกษาด้านอัตราการไหล ระดับน้ำ ตลอดจนปริมาณตะกอนพัดพา ที่เกิดเนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ต่อพื้นที่ศึกษา

ขั้นตอนที่ 4 : การพัฒนาหาโมเดลแนวคิด (conceptual model)

นำข้อมูลการไหลของแม่น้ำ และข้อมูลจากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสำรวจภาคสนาม ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและจากท้องถิ่น มาหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบการไหลของน้ำกับกระบวนการด้านกายภาพและชีวภาพที่สำคัญในแม่น้ำสำหรับแต่ละทรัพยากรพื้นฐานมีค่าของแหล่งน้ำ หรือสำหรับทรัพยากรพื้นฐานทั้งหมดโดยรวมของแหล่งน้ำ

ขั้นตอนที่ 5 : การศึกษาและวิเคราะห์แบบจำลองอุทกวิทยา

ศึกษาวิเคราะห์ลักษณะอุทกอย่างละเอียดของแต่ละช่วงระยะของ EFA เพื่อทราบขนาด ระยะเวลายาวนาน ความถี่ และช่วงเวลา (เมื่อใด) ที่จำเป็นต่อการรักษาวัตถุประสงค์การจัดการการไหลของน้ำ

Scroll to Top