ด้านเศรษฐกิจ สังคม
ด้านเศรษฐกิจและสังคม ปี พ.ศ. 2564
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
การศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ 2) ศึกษาอาชีพที่ได้รับผลกระทบ 3) ศึกษาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4) เสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา และ 5) เสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในครั้งต่อไป โดยเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือศึกษาเอกสารวรรณกรรม แบบสอบถามผู้นำหมู่บ้าน และแบบสอบถามหัวหน้าครัวเรือนพื้นที่ศึกษา 28 อำเภอใน 8 จังหวัด
ผลการศึกษาพบว่า ในพื้นที่ศึกษามีประชากรรวม 1,703,463 คน มีจำนวนหลังคาเรือน 584,771 หลังคาเรือน โดย จ.หนองคาย มีประชากรสูงสุด (424,698 คน) ในขณะที่ จ.อำนาจเจริญ มีประชากรน้อยที่สุด (41,849 คน) โดยในพื้นที่ศึกษามีแนวโน้มของการกลายเป็นเมืองตามรายงานในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ศึกษามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 0.15 โดยประชากรในเขตเมือง มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.45 ในขณะที่จำนวนประชากรในเขตชนบทมีแนวโน้มลดลง (ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.10)
แม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ศึกษาโดยมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตครัวเรือนสูงสุดในเรื่องเป็นแหล่งอาหาร (ค่าเฉลี่ย 4.22) ตามด้วยด้านรายได้และวัฒนธรรมประเพณี (ค่าเฉลี่ย 4.18)
1. การศึกษาด้านอาชีพ
1) การเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของประชากรในพื้นที่ศึกษา โดยในปี 2564 มีครัวเรือนที่ประกอบอาชีพการเกษตร 254,570 ครัวเรือน (ร้อยละ 79) กระจุกตัวอยู่ที่ จ.นครพนม ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเพาะปลูก 200,578 ครัวเรือน (ร้อยละ 62) โดยกระจุกตัวอยู่ที่ จ.นครพนม (กรมพัฒนาชุมชน, 2564) พื้นที่ศึกษามีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 2,040,868 ไร่ ครัวเรือนทำนา 198,617 ครัวเรือน (ร้อยละ 61) โดยกระจุกตัวที่ จ.นครพนม มีรายได้จากการทำนา โดยเฉลี่ย 63,565 บาทต่อปี โดยมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดที่ จ.บึงกาฬ (87,359 บาท) และต่ำสุดที่ จ.นครพนม (40,673 บาท)
2) การทำเกษตรบนฝั่ง พืชที่ครัวเรือนเพาะปลูกมากที่สุดคือข้าว ตามด้วยพริกและข้าวโพด กรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่เป็นของตนเองหรือครอบครัว พื้นที่การเกษตรมีขนาดพื้นที่เฉลี่ย 10 ไร่ โดยค่าเฉลี่ยสูงสุดที่ จ.เลย และค่าเฉลี่ยต่ำสุดที่ จ.นครพนม มีรายได้จากการเกษตรกรรมเฉลี่ย 65,911 บาทต่อปี เฉลี่ยสูงสุดที่ จ.บึงกาฬ และเฉลี่ยต่ำสุดที่ จ.เชียงราย น้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลักที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม โดยมีครัวเรือนสูบน้ำจากแม่น้ำโขงโดยตรง (ร้อยละ 26) โดยกระจุกตัวที่ จ.นครพนม การเปลี่ยนแปลงของการทำเกษตรกรรมในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คือ รายได้จากการขายผลผลิตลดลง (ร้อยละ 54) โดยกระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี
3) การเกษตรริมฝั่ง ครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตรริมฝั่งกระจุกตัวที่ จ.นครพนม พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ คือ ทุเรียน พริก ข้าวโพด และปลูกข้าว กรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรริมฝั่งส่วนใหญ่เป็นของตนเองหรือครอบครัว ขนาดที่ดินเฉลี่ย 4.4 ไร่ สูงสุดที่ จ.หนองคาย และต่ำสุดที่ จ.อำนาจเจริญ รายได้จากการเกษตรริมฝั่งเฉลี่ย 46,271 บาท/ปี สูงสุดที่ จ.หนองคาย ต่ำสุดที่ จ.เชียงราย
4) การประมง ครัวเรือนทำการประมงน้ำจืด 4,278 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย) (กรมพัฒนาชุมชน, 2564) ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่คือปลาขาว จำนวนปลาและสัตว์น้ำที่จับได้เฉลี่ย 475 กก./ปี สูงสุดที่จ.นครพนม และต่ำสุดที่ จ.มุกดาหาร มีรายได้จากการประมงเฉลี่ย 30,046 บาท/ปี สูงสุดที่ จ.บึงกาฬ และต่ำสุดที่ จ.เชียงราย การเปลี่ยนแปลงของการทำประมงจากแหล่งน้ำธรรมชาติในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่เห็นว่าจำนวนสัตว์น้ำลดลง กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร จำนวนชาวประมงลดลง กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร และรายได้จากการขายสัตว์น้ำลดลง กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร โดยชาวประมงมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการประมงหรือจับสัตว์น้ำโดยการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่เหมาะสม
5) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ในปี 2564 ครัวเรือนที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด 2,057 ครัวเรือน โดยสูงสุดที่จังหวัดหนองคาย (กรมพัฒนาชุมชน, 2564) ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อน้ำขุดเอง สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ คือ ปลาตะเพียน และปลานิล โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 624 กก./ปี สูงสุดที่ จ.อุบลราชธานี ต่ำสุดที่ จ.อำนาจเจริญ รายได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเฉลี่ย 53,375 บาท/ปี สูงสุดที่ จ.หนองคาย ต่ำสุดที่ จ.อำนาจเจริญ ครัวเรือนส่วนใหญ่เห็นว่ารายได้จากการขายสัตว์น้ำลดลง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย และ จ.อุบลราชธานี โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ปรับตัวโดยการป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงในแม่น้ำ
6) การท่องเที่ยว ในปี 2564 หมู่บ้านที่มีสถานที่ท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 241 หมู่บ้าน สูงสุดที่จังหวัดหนองคาย ครัวเรือนในหมู่บ้านที่มีรายได้จากการมีสถานที่ท่องเที่ยวภายในตำบล 7,398 ครัวเรือน โดยสูงสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี และครัวเรือนในหมู่บ้านที่มีรายได้จากการมีสถานที่ท่องเที่ยวภายนอกตำบล 4,001 ครัวเรือน โดยสูงสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี (กรมพัฒนาชุมชน, 2564)
2. ความเปราะบางของประชากร
1) ความเปราะบางด้านภาวะพึ่งพิงในครอบครัว พื้นที่ศึกษามีผู้เป็นภาระพึ่งพิงเฉลี่ยร้อยละ 33.14 โดย จ.เชียงราย มีอัตราผู้เป็นภาระพึ่งพิงสูงสุด ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้หญิงและมีหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัว 8,843 ครัวเรือน (ร้อยละ 2.7) กระจุกตัวที่ จ.หนองคาย ครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ 21,070 ครัวเรือน (ร้อยละ 7) โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย ครัวเรือนที่มีเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเต็ม 16,314 ครัวเรือน (ร้อยละ 5) โดยกระจุกตัวที่ จ.เชียงราย
2) ความเปราะบางด้านการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ครัวเรือนไม่มีน้ำประปาใช้ตลอดปี 25,552 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.หนองคาย (กรมพัฒนาชุมชน, 2564) ไม่มีไฟฟ้าใช้ 24 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร หมู่บ้านที่ถนนสายหลักไม่ดีตลอดทั้งปี 33 หมู่บ้าน โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย และหมู่บ้านที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 60 นาทีเพื่อเดินทางไปยังอำเภอหรือชุมชน 10 หมู่บ้าน โดยกระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.เลย ในด้านการศึกษา พื้นที่ศึกษามีคนอายุ 6-14 ปี ที่ไม่ได้เรียนการศึกษาภาคบังคับหรือเรียนไม่จบการศึกษา 11,394 คน โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย ในด้านการสื่อสาร ครัวเรือนไม่ปรากฏว่ามีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 19,310 โดยกระจุกตัวที่ จ.เชียงราย ในขณะที่ครัวเรือนไม่ปรากฏว่ามีอินเตอร์เน็ต 166,833 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.นครพนม
3) ความเปราะบางด้านรายได้ ครัวเรือนมีแหล่งรายได้หลักอันดับ 1 จากเกษตรกรรม เพาะปลูก รองลงมาคือรับจ้างทั่วไปหรืองานตามฤดูกาล และเงินเดือนจากหน่วยงาน รายได้หลักเฉลี่ยต่อเดือนจำนวน 15,054 บาท โดยจังหวัดบึงกาฬ มีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด แหล่งรายได้รองสำคัญคือ หาปลา จับปลา ประมง และรับจ้างทั่วไป งานตามฤดูกาล รายได้รองเฉลี่ยต่อเดือนจำนวน 6,634 บาท โดยจังหวัดหนองคายมีรายได้รองสูงสุด
สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบต่อรายได้ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.68) ซึ่งสูงกว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.96) ในด้านการออมและหนี้สินพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีระดับหนี้สินปานกลาง (ผ่อนหนี้ใช้เงินประมาณ 1 ใน 3 ของเงินรายได้ต่อเดือน) และมีการออมในระดับน้อย (ออมเงินนจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน)
4) ความเปราะบางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ศึกษามีปริมาณน้ำที่เก็บเฉลี่ยทั้งปี ในปี 2562 จำนวน 153 ล้านลูกบาศก์เมตร จ.หนองคาย มีปริมาณน้ำที่เก็บสูงสุด ในขณะที่ จ.มุกดาหาร และ จ.เลย มีปริมาณน้ำที่เก็บต่ำสุด
5) ความเปราะบางในด้านที่ดินทำกิน ครัวเรือนส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินของตนเองและไม่ต้องเช่า 243,724 ครัวเรือน ครัวเรือนไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง ต้องเช่าทั้งหมด 8,136 ครัวเรือนโดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย ครัวเรือนส่วนใหญ่มีพื้นที่นาไม่เกิน 5 ไร่ 74,055 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.นครพนม
6) ความเปราะบางด้านความเข้มแข็งของชุมชน ครัวเรือนที่ไม่เคยเข้าร่วมประชุมหมู่บ้าน/กลุ่มในหมู่บ้าน 81,156 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย (23,234 ครัวเรือน) ไม่เป็นสมาชิก สหกรณ์ หรือกองทุน 94,387 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนชุมชน 156,437 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวใน จ.หนองคาย หมู่บ้านที่ไม่มีการประชาคม 165 หมู่บ้าน โดยกระจุกที่ จ.อุบลราชธานี และหมู่บ้านไม่มีกฎกติกาของหมู่บ้าน 271 หมู่บ้าน โดยกระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี
ครัวเรือนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงและการปรับตัว 46 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านรายได้ของครัวเรือนในช่วงเกิดเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงน้ำโขง เช่น น้ำขึ้น-ลงอย่างฉับพลัน น้ำโขงแล้ง หรือตลิ่งพัง 234 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร และ จ.หนองคาย ครัวเรือนไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและเข้าร่วมกลุ่มอาชีพ หรือเครือข่ายของครัวเรือนในชุมชน 105 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย
7) ความเปราะบางในด้านความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หมู่บ้านมีความเสี่ยงน้ำท่วม/ดินถล่ม/พายุ 342 แห่ง โดยกระจุกตัวที่ จ.เชียงราย มีความเสี่ยงภัยแล้ง 300 หมู่บ้าน กระจุกตัวที่ จ.เชียงราย ไม่มีระบบเตือนภัย 993 แห่ง กระจุกตัวที่ จ.หนองคาย และหมู่บ้านไม่มีการดำเนินกิจกรรมเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ 971 แห่ง กระจุกตัวที่ จ.หนองคาย
ครัวเรือนมีรูปแบบการเข้าถึงระบบเตือนภัยที่หลากหลาย โดยช่องทางที่ครัวเรือนเข้าถึงระบบเตือนภัยสูงที่สุดคือโทรทัศน์ ตามด้วยหอกระจายเสียง และมือถือ ไลน์ เฟซบุ๊ก รูปแบบการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ครัวเรือนส่วนใหญ่รับข้อมูลจากผู้นำชุมชนหรือหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ระบุว่าได้รับข้อมูลทันเวลาและมีข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน ครัวเรือนที่ไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ โดยกระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร ครัวเรือนไม่ได้เข้าร่วมในการเตรียมความพร้อมป้องกันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงร่วมกับชุมชน 52 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี
3. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนจากการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง
ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม หมู่บ้านมีปัญหาขยะมูลฝอย 356 แห่ง โดยกระจุกตัวที่ จ.เชียงราย มีปัญหาขยะของเสียอันตราย 265 แห่ง โดยกระจุกตัวที่ จ.เชียงราย มีปัญหาน้ำเสีย 44 แห่ง โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย มีปัญหาคุณภาพอากาศ 178 แห่ง โดยกระจุกตัวที่ จ.เชียงราย มีปัญหามลพิษทางเสียง 46 แห่ง โดยกระจุกตัวที่ จ.หนองคาย ครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม/ดินถล่ม/พายุ 494 ครัวเรือน โดยกระจุกตัว ที่ จ.หนองคาย และประสบภัยแล้ง 156 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร (กรมพัฒนาชุมชน, 2564)
1) ด้านที่อยู่อาศัยครัวเรือน ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงขาดน้ำระดับมาก (ขาดน้ำใช้มากกว่าหนึ่งเดือน) 12 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันระดับมาก (ที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายเกือบทั้งหมด) 6 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี และได้รับผลกระทบจากตลิ่งพังระดับมาก (บ้านเรือนเสียหายเกือบทั้งหมด) 12 ครัวเรือน โดยกระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี
2) การเกษตรกรรม ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงขาดน้ำ (พืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด) 13 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน (พืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด) 16 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงเกิดตลิ่งพัง (พืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด) 9 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี
3) การเกษตรริมฝั่ง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงขาดน้ำ (พืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด) 3 ครัวเรือน ที่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงเกิด น้ำท่วมฉับพลัน (พืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด) 4 ครัวเรือน ที่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงเกิดตลิ่งพัง (พืชผลเสียหายเกือบทั้งหมด) 3 ครัวเรือน ที่ จ.อุบลราชธานี
4) การประมง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงขาดน้ำ (จับสัตว์น้ำไม่ได้เลย) 31 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร ได้รับผลกระทบระดับมากจากแม่น้ำโขงเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ (จับสัตว์น้ำไม่ได้เลย) 22 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร ได้รับผลกระทบระดับมากจากตะกอนแม่น้ำโขงลดลง/โขงสีคราม (จับสัตว์น้ำไม่ได้เลย) 27 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.มุกดาหาร
5) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงขาดน้ำ น้ำท่วมฉับพลัน และตะกอนแม่น้ำโขงลดลง/โขงสีคราม ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้น้อยลง 8 ครัวเรือน กระจุกตัวที่ จ.อุบลราชธานี
4. การปรับตัวของประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง
ในด้านการเตรียมความพร้อมป้องกันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงร่วมกับชุมชนครัวเรือนส่วนใหญ่เข้าร่วมบางครั้ง หรือเข้าร่วมเมื่อชุมชนต้องการ ครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจในระดับปานกลาง โดยมีความรู้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถป้องกันผลกระทบได้ดีหรือไม่ มีการปรับตัวในเรื่องการประกอบอาชีพหรือหารายได้น้อย โดยยังคงประกอบอาชีพเดิม โดยมีรายได้ลดลงอย่างมากหรือไม่มีรายได้แต่ใช้วิธีประหยัดมากขึ้น โดยกระจุกตัวที่ จ.นครพนม
คณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้านโดยการสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้าน จำนวน 41 คน และแบบสอบถามหัวหน้าครัวเรือน จำนวน 427 คน ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจเกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่ได้ดังนี้
1. การเกษตรกรรมบนฝั่ง
ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดที่ประกอบอาชีพการเกษตรกรรมบนฝั่ง มีจำนวน 278 ครัวเรือน (ร้อยละ 65) โดยจังหวัดอำนาจเจริญ มีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมบนฝั่งสูงที่สุด จำนวน 29 ครัวเรือน (ร้อยละ 94) ในขณะที่จังหวัดเชียงรายมีสัดส่วนต่ำที่สุด จำนวน 19 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) และจังหวัดนครพนม จำนวน 36 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) ชนิดของพืชที่มีการเพาะปลูกบนฝั่งทั้ง 8 จังหวัดสูงสุด 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว จำนวน 177 ครัวเรือน (ร้อยละ 64) พริก จำนวน 144 ครัวเรือน (ร้อยละ 52) มะเขือ จำนวน 133 ครัวเรือน (ร้อยละ 48) ผักชี จำนวน 118 ครัวเรือน (ร้อยละ 42) และต้นหอม จำนวน 112 ครัวเรือน (ร้อยละ 40)
ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด พึ่งพาแหล่งน้ำจากการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรกรรมบนฝั่งสูงที่สุด จำนวน 102 ครัวเรือน (ร้อยละ 37) โดยจังหวัดหนองคาย มีการพึ่งพาแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตร บนฝั่งสูงสุด จำนวน 36 ครัวเรือน (ร้อยละ 82) รองลงมา คือ จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 28 ครัวเรือน (ร้อยละ 68) ซึ่งแสดงให้เห็นความเสี่ยงของจังหวัดหนองคายหากแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
– ด้านปริมาณผลผลิตทางการเกษตรบนฝั่ง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนฝั่งส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตลดลง จำนวน 147 ครัวเรือน (ร้อยละ 53) โดยจังหวัดที่สัดส่วนของครัวเรือนมีผลผลิตทางการเกษตรบนฝั่งลดลงสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 27 ครัวเรือน (ร้อยละ 93)
– ด้านการเจริญเติบโตของพืชจากการเกษตรบนฝั่ง พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตของพืชลดลง จำนวน 123 ครัวเรือน (ร้อยละ 44) โดยจังหวัดที่มีความรุนแรงของปัญหานี้สูงสุด คือ จังหวัดเลย จำนวน 24 ครัวเรือน (ร้อยละ 96)
– ด้านรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรบนฝั่ง พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง จำนวน 173 ครัวเรือน (ร้อยละ 62) โดยจังหวัดที่มีความรุนแรงของปัญหารายได้จากการขายผลผลิตสูงสุด คือ จังหวัดเลยจำนวน 24 ครัวเรือน (ร้อยละ 96)
– ด้านจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมบนฝั่ง พบว่า หัวหน้าครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดเห็นว่าจำนวนเกษตรกรเท่าเดิม จำนวน 166 ครัวเรือน (ร้อยละ 60) ในด้านพื้นที่ทำการเกษตรกรรมบนฝั่ง พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมบนฝั่งจำนวนเท่าเดิม จำนวน 195 ครัวเรือน (ร้อยละ 70)
– ด้านการเป็นเกษตรอินทรีย์ พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ยังมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพเท่าเดิม จำนวน 128 ครัวเรือน (ร้อยละ 46) โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีแนวโน้มการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชลดลง จำนวน 110 ครัวเรือน (ร้อยละ 40)
ครัวเรือนที่ทำการเกษตรบนฝั่งทั้ง 8 จังหวัดมีการปรับตัว จำนวน 247 ครัวเรือน (ร้อยละ 89) โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนการปรับตัวสูงที่สุดคือจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 29 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) และจังหวัดเชียงราย จำนวน 19 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) โดยวิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรบนฝั่ง ได้แก่ การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร จำนวน 195 ครัวเรือน (ร้อยละ 79) รองลงมา คือ การเฝ้าระวังการปล่อยน้ำจากเขื่อน จำนวน 189 ครัวเรือน (ร้อยละ 77) และการป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงในแม่น้ำ จำนวน 191 ครัวเรือน (ร้อยละ 77)
2. การเกษตรกรรมริมฝั่ง
ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดที่ประกอบอาชีพการเกษตรกรรมริมฝั่งมีจำนวน 170 ครัวเรือน (ร้อยละ 40) โดยจังหวัดอุบลราชธานีมีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมริมฝั่งสูงที่สุด จำนวน 34 ครัวเรือน (ร้อยละ 58) ในขณะที่จังหวัดบึงกาฬมีสัดส่วนต่ำที่สุด จำนวน 12 ครัวเรือน (ร้อยละ 27)
ชนิดของพืชที่ครัวเรือนเพาะปลูกริมฝั่งทั้ง 8 จังหวัดสูงสุด 5 ชนิด ได้แก่ พริก จำนวน 121 ครัวเรือน (ร้อยละ 71) มะเขือ จำนวน 101 ครัวเรือน (ร้อยละ 59) ต้นหอม จำนวน 97 ครัวเรือน (ร้อยละ 57) ผักชี จำนวน 96 ครัวเรือน (ร้อยละ 56) และมะเขือเทศ จำนวน 92 ครัวเรือน (ร้อยละ 54)
ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดพึ่งพาแหล่งน้ำจากการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อทำการเกษตรริมฝั่งสูงที่สุด จำนวน 113 ครัวเรือน (ร้อยละ 66) จังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรริมฝั่งสูงสุด คือ จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 14 ครัวเรือน (ร้อยละ 93) ซึ่งแสดงให้เห็นความเสี่ยงของจังหวัดมุกดาหารหากแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
การเปลี่ยนแปลงของการทำเกษตรริมฝั่งในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด ส่วนใหญ่เห็นว่าตนเองมีปริมาณผลผลิตลดลง จำนวน 76 ครัวเรือน (ร้อยละ 45) โดยจังหวัดอำนาจเจริญ มีสัดส่วนของครัวเรือนที่เห็นว่าผลผลิตลดลงสูงที่สุด จำนวน 14 ครัวเรือน (ร้อยละ 93)
– ด้านการเจริญเติบโตของพืช ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่เห็นว่ามีการเจริญเติบโตของพืชลดลง จำนวน 71 ครัวเรือน (ร้อยละ 42) โดยจังหวัดบึงกาฬ มีสัดส่วนครัวเรือนที่เห็นว่าการเติบโตของพืชลดลงสูงที่สุด จำนวน 12 ครัวเรือน (ร้อยละ 100)
– ด้านรายได้จากการขายผลผลิต ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่เห็นว่าครัวเรือนของตนเองมีรายได้จากการขายผลผลิตลดลง จำนวน 86 ครัวเรือน (ร้อยละ 51) โดยจังหวัดที่มีความรุนแรงของปัญหานี้สูงที่สุดคือ จังหวัดเลย จำนวน 8 ครัวเรือน (ร้อยละ 80)
– ด้านจำนวนเกษตรกร ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่เห็นว่าในหมู่บ้านตนเองนั้นมีจำนวนเกษตรกรเท่าเดิม จำนวน 100 ครัวเรือน (ร้อยละ 59) โดยจังหวัดเลยมีสัดส่วนของครัวเรือนที่เห็นว่าจำนวนเกษตรกรลดลงสูงที่สุด จำนวน 8 ครัวเรือน (ร้อยละ 80) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรายได้จากการขายผลผลิต
– ด้านพื้นที่เกษตรกรรม ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองมีพื้นที่เกษตรกรรมเท่าเดิม จำนวน 104 ครัวเรือน (ร้อยละ 61) โดยจังหวัดเลยมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีพื้นที่เกษตรกรรมลดลงสูงที่สุด จำนวน 8 ครัวเรือน (ร้อยละ 80) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรายได้จากการขายผลผลิตและจำนวนเกษตรกร
– ด้านการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยชีวภาพเท่าเดิม จำนวน 84 ครัวเรือน (ร้อยละ 49) โดยจังหวัดเลยมีสัดส่วนของครัวเรือนที่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยชีวภาพลดลงสูงที่สุด จำนวน 7 ครัวเรือน (ร้อยละ 70)
– ด้านการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัดส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยเคมีและ สารกำจัดศัตรูพืชเท่าเดิม จำนวน 72 ครัวเรือน (ร้อยละ 42) โดยจังหวัดอำนาจเจริญมีสัดส่วนของครัวเรือนที่ระบุว่าตนเองใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นสูงที่สุด จำนวน 9 ครัวเรือน (ร้อยละ 60)
– ด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรกรรมริมฝั่ง พบว่า ครัวเรือนทั้ง 8 จังหวัด ที่ทำการเกษตรริมฝั่งทั้ง 8 จังหวัดมีการปรับตัวจำนวน 152 ครัวเรือน (ร้อยละ 89) โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนการปรับตัวสูงที่สุด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 15 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) และจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 12 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) โดยวิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเกษตรกรรมริมฝั่ง ได้แก่ การป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงในแม่น้ำ จำนวน 124 ครัวเรือน (ร้อยละ 82)