ด้านเศรษฐกิจ สังคม

การบริการของระบบนิเวศ ปี 2566

การประเมินมูลค่าการบริการทางเศรษฐศาสตร์ของระบบนิเวศ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหาร  ด้านการควบคุมสภาวะแวดล้อม ด้านการเป็นแหล่งวัฒนธรรม และด้านการสนับสนุน

1) ด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหาร

การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้านการเป็นแหล่งอาหาร จะใช้วิธีการคำนวณจากมูลค่าการใช้ประโยชน์ด้านการทำเกษตรกรรม และรายได้การทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของแต่ละพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงของรายได้จากผลผลิต

มูลค่าการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม

มูลค่าด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหารจากการทำเกษตรของพื้นที่ศึกษารวม 442,343.58 บาท/ไร่/ปี โดยคิดเป็นมูลค่าจากการทำเกษตรบนฝั่ง และเกษตรริมฝั่งร้อยละ 57.70 และ ร้อยละ 42.30 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาข้อมูลการทำเกษตรของประชาชนที่จังหวัดเลย พบว่า มูลค่าด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหารจากการทำเกษตร 239,534.70 บาท/ไร่/ปี โดยคิดเป็นมูลค่าจากการทำเกษตรบนฝั่ง และเกษตรริมฝั่งร้อยละ 86.40 และ ร้อยละ 13.6 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาข้อมูลการทำเกษตรของประชาชนที่จังหวัดนครพนม พบว่า มูลค่าด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหารจากการทำเกษตร 313,022.34 บาท/ไร่/ปี โดยคิดเป็นมูลค่าจากการทำเกษตรบนฝั่ง และเกษตรริมฝั่งร้อยละ 44.60 และ ร้อยละ 55.40 ตามลำดับ

มูลค่าการใช้ประโยชน์ด้านประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ลักษณะการทำประมงมี 3 ลักษณะ ได้แก่ การจับสัตว์น้ำจากในแม่น้ำโขง ร้อยละ 72 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนฝั่ง ร้อยละ 20 และการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ร้อยละ 8 และมีจำนวนผู้ที่เพาะเลี้ยงปลาบนฝั่ง เพื่อไว้ทานในครัวเรือน ไม่ได้จำหน่าย ร้อยละ 40 โดยประชาชนที่จับสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงมีรายได้เฉลี่ย 22,285.71 บาท/ปี เพาะเลี้ยงบนชายฝั่ง 7,166.67 บาท/ปี และเพาะเลี้ยงในกระชัง 25,000.00 บาท/ปี โดยผลผลิตสัตว์น้ำที่จับได้โดยเครื่องมือประมงท้องถิ่น ประกอบด้วย ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลากด กุ้งแม่น้ำ ปลาคัง ปลาเนื้ออ่อน ปลากาดำ และปลาโจกเขียว ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนฝั่ง ประกอบด้วย ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล และกบ และผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำโขง ได้แก่ ปลานิล

รายได้รวมจากผลผลิต

ในภาพรวม ปี พ.ศ. 2566 รายได้เฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งคำนวนแบบค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เท่ากับ 19,670.34 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือ 4,844.91 บาทต่อคนต่อเดือน (จำนวนสมาชิกเฉลี่ยเท่ากับ 4.06 คนต่อครัวเรือน) ลดลงร้อยละ 10.70 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 (ปี พ.ศ. 2561 รายได้เฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 22,027.30 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน) รายได้เฉลี่ยที่ลดลงเป็นผลมาจากรายได้จากเกษตรบนฝั่งลดลง ร้อยละ 3.53 ในขณะที่รายได้จากเกษตรริมฝั่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.78 รายได้จากการหาปลา/จับปลา/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงลดลง ร้อยละ 15.62 ในขณะที่รายได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนฝั่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 249.73 หรือประมาณ 2.5 เท่า รายได้จากการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.84 รายได้จากการรับจ้างนอกภาคเกษตรลดลง ร้อยละ 1.38 รายได้จากการรับจ้างในภาคเกษตรลดลง ร้อยละ 7.20 รายได้จากเงินเดือนลดลง ร้อยละ 12.07 รายได้จากการประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวลดลง ร้อยละ 28.57 รายได้จากการประกอบกิจการค้าขาย เช่น ร้านค้า ร้านชำ ลดลง ร้อยละ 20.35 รายได้จากการประกอบกิจการจำหน่ายงานฝีมือ เช่น จักสาน ทอผ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72 รายได้ที่ได้รับจากญาติลดลง ร้อยละ 8.55 และรายได้อื่น ๆ เช่น การรับจ้างทั่วไป ลดลง ร้อยละ 9.07 จากข้อมูลข้างต้น อาจสันนิษฐานได้ว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีการปรับตัวด้านการประกอบอาชีพ จากที่เคยมีรายได้จากการหาปลา/จับปลา/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง มาเป็น

การเลี้ยงสัตว์น้ำบนฝั่งมากขึ้น

2) การเป็นแหล่งควบคุมสภาวะแวดล้อม (Regulating)

การประเมินมูลค่าในด้านการควบคุมสภาวะแวดล้อมนั้น เป็นการประเมินผลประโยชน์ โดยอ้อมที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับจากแม่น้ำโขง โดยถือเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ เช่น ระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขงจะช่วยป้องกันการพังทลายของดิน และการควบคุมสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งพบว่า ขนาดของพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งทั้งหมดมีทั้งลดลงและเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2566 มีการได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการสูญเสียพื้นที่ตลิ่ง ซึ่งได้พื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นมา 6.62 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่สูญเสียพื้นที่ตลิ่ง 12.48 ตารางกิโลเมตร เมื่อพิจารณาที่จังหวัดเลย พบว่า มีพื้นที่ตลิ่งหายไปรวมทั้งหมด 8.03 ตารางกิโลเมตร (5,016.01 ไร่) และพบพื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 0.67 ตารางกิโลเมตร (417.19 ไร่) และที่จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ตลิ่งหายไปรวมทั้งหมด 1.33 ตารางกิโลเมตร (831.46 ไร่) และพบพื้นที่ตลิ่งเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 0.74 ตารางกิโลเมตร (434.04 ไร่) ดังนั้นมูลค่าในด้านการควบคุมสภาวะแวดล้อมของแม่น้ำโขงจะประเมินจากมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการฟื้นฟูพื้นที่ริมตลิ่ง
สำหรับต้นทุนในการฟื้นฟูพื้นที่ริมตลิ่งนั้น สามารถคำนวณต้นทุนการปรับปรุงระบบนิเวศริมน้ำ อ้างอิงราคาจากงบประมาณราคากลาง ของสำนักงบประมาณปี 2566 (งานปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ) ซึ่งกำหนดต้นทุนค่าแรงงาน 778.44 บาทต่อไร่ ค่ากล้าไม้ 255.68 บาทต่อไร่ และค่าใช้สอยและวัสดุอื่น ๆ 74.16 บาทต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 1,108.28 บาทต่อไร่ โดยมูลค่าของการเป็นแหล่งควบคุมสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ศึกษารวมคิดเป็น 6,480,634.05 บาท และมูลค่าของการเป็นแหล่งควบคุมสภาวะแวดล้อมของจังหวัดเลย 5,559,143.56 บาท และมูลค่าของการเป็นแหล่งควบคุมสภาวะแวดล้อมจังหวัดนครพนม 921,490.49 บาท

3) การเป็นแหล่งวัฒนธรรม

แม่น้ำโขงนับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งวัฒนธรรมด้านอาหารการกิน การแต่งกาย การละเล่น รวมถึงสถาปัตยกรรมต่าง ๆ

จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายในปี พ.ศ. 2566 ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 กล่าวคือ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนของเจ้าของกิจการด้านการท่องเที่ยว เช่น โฮมสเตย์ ลดลงร้อยละ 28.57 รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนของเจ้าของกิจการขายสินค้า เช่น ร้านขายของชำ ลดลงร้อยละ 20.35 ทั้งนี้ อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 ร่วมกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหลัง Covid-19 และภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลต่อทัศยีภาพของแม่น้ำโขง ความงามของสิ่งแวดล้อม การเติบโตของพืชพรรณและสัตว์ อันเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนของเจ้าของกิจการขายสินค้าประเภทงานฝืมือ ไม่ลดลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.72)

4) ด้านการสนับสนุน

จากการศึกษาพบว่าพื้นที่เป้าหมายซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงมีการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ยางพารา ข้าวเจ้า มะม่วง ยาสูบ ข้าวเหนียว และมะเขือเทศ เป็นต้น ด้านสัตว์น้ำ พบว่ามีสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น กุ้งแม่น้ำ ปลากด ปลากาดำ ปลาขาวน้อย ปลาคัง ปลาจกเขียว ปลาจุก ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาปลัก ปลายอ ปลาสวาย กบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ศึกษาปริมาณของพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งในน้ำและบนบก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงชนิดและปริมาณของสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ ก่อนและหลังมีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน

 

Scroll to Top